Select Page

พระบูชาหลวงพ่อโสธร รุ่นกระเบื้องหลังคาโบสถ์ พ.ศ. 2537-2539

 
พระบูชาหลวงพ่อโสธร รุ่นกระเบื้องหลังคาโบสถ์(หลังเก่า) ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2537-2539 รุ่นองค์ทองฐานแดง(องค์พระประธานทาสีทอง,ฐานทาสีแดง)
เอกลักษณ์ของพระบูชาแบบนี้หลายท่านอาจจะเคยพบเห็นองค์พระของจริงหรือจากภาพในสื่อออนไลน์กันมามาก แต่เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบประวัติและการพิจารณาของแท้อย่างถูกต้องตามหลักการ
ข้อมูลขององค์พระที่ควรทราบมีดังนี้
– มีการสร้างขึ้นที่วัดโสธรวราราม ในปีพ.ศ.2537-2539 อายุของพระบูชาประมาณเกือบ 30ปี
– การสร้างเป็นแบบหล่อโดยด้านในองค์พระประธานและฐานจะกลวง
– วัสดุที่ใช้หล่อมีมวลสารหลักคือเรซินและมีมวลสารต่างๆที่นำมาผสมโดยมวลสารที่สำคัญคือ”กระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์หลังเก่า”ของวัดที่ถูกรื้อลงมา โดยได้ถูกนำมาบดผสมรวมอยู่ด้วย จึงเป็นที่มาของพระบูชารุ่นนี้ว่า”รุ่นกระเบื้องหลังคาโบสถ์”
– องค์ที่นำมาให้ท่านสมาชิกศึกษาและพิจารณานี้เป็นพระบูชาขนาดหน้าตัก 9นิ้ว สูง17นิ้ว น้ำหนัก 3.9กิโลกรัม น้ำหนักนี้สำคัญมาก ถ้าเบาไปหรือหนักมากไปจนผิดปกติ ก็น่าจะเป็นของปลอมขึ้นมาภายหลัง เพราะน้ำหนักของเนซินเเละส่วนผสมในขนาดพิมพ์เดียวจะต้องคงที่หรือใกล้เคียงกันมาก จะต้องไม่เปลี่ยนไปมากจนผิดปกติ
– เนื้อเรซินด้านในนั้นจะมีสีขาว (มีภาพใต้ฐานที่เห็นเนื้อเรซินมาประกอบ)จากนั้นช่างจะทาสีองค์พระเป็นสีทองและทาสีฐานเป็นสีแดง
– ใต้ฐานด้านล่างช่างจะบุด้วยผ้าเนื้อหยาบสีแดงและประทับตรายางของวัดบนผ้าแดงใต้ฐาน ซึ่งรายละเอียดตรายางจะเหมือนกับตราที่พิมพ์ติดอยู่ที่ข้างกล่องบรรจุ
– องค์พระบูชาที่นำมาแสดงจะมีพร้อมทั้งกล่องที่บรรจุออกมาจากวัด โดยจะเป็นกล่องสีขาวกว้าง7.5นิ้ว ยาว 14.5นิ้วและสูง19นิ้ว ซึ่งกล่องนี้เองก็ยังมีการปลอมแปลงตราวัดที่พิมพ์ไว้ข้างกล่องด้วยเช่นกันโดยให้สังเกตรายละเอียดของตราวัดจะต่างกัน(มีภาพมาให้เปรียบเทียบด้านล่าง)
หลักการพิจารณาในองค์ประกอบหลัก 3อย่างของพระแท้คือ
1.อายุความเก่าเกือบ 30ปี ให้พิจารณา
– สีที่ทามาเกือบ 30ปี ความหม่นลง,มีความด้านของสีปรากฏ ในของปลอมสีจะสดใหม่สะท้อนแสง,เงาวับ
-การหลุด,ถลอกจากการสัมผัส การเสื่อมของเรซินที่มีการกระเทาะในบางจุด ซึ่งเป็นธรรมชาติที่พบได้เมื่อพระบูชาได้ผ่านอุณภูมิร้อน,เย็นตามธรรมชาติ แม้ว่าจะตั้งบูชาในบ้านก็ตาม
2.พิมพ์และการสร้างถูกต้อง
– การหล่อควรมีชิ้นงานที่สมบูรณ์,เรียบร้อย,งดงาม,ดูนิ่มตา ของปลอมรายละเอียดจะทำไม่เหมือน ซึ่งจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีของแท้มาเปรียบเทียบ
-การ”ทาสี”ที่เรียบร้อย ไม่ใช่ใช้การ”พ่นสี”แทน การสร้างพระในจำนวนมากมักจะใช้การพ่นสีแทน เนื้อสีจะละเอียดกว่าและจะเห็นร่องรอยเม็ดสีกระจายของการพ่นชัดเจนต่างจากการใช้มือทา หรือถ้าปลอมโดยการทาเหมือนกัน ความสดใหม่ของสีจะมีมากกว่า
-การปิดด้วยผ้าแดงใต้ฐานและมีการประทับตรายางที่ผ้าถูกต้อง
3.มวลสารและวัสดุที่สร้างถูกต้อง
– การพิจารณามวลสารได้แก่เรซิน,สีที่ทา,ผ้าแดงที่ปิดใต้ฐาน,ตรายางที่ปั๊มใต้ฐาน,กล่องบรรจุและตราที่พิมพ์ติดไว้ข้างกล่อง ทุกๆองค์ประกอบจะต้องครบถ้วนและถูกต้องจึงจะสรุปได้
ท่านสมาชิกสามารถศึกษาพระเครื่องหมวดอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.puttharugsa.com หรือช่องยูทูป”พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวพุทธรักษา”ครับ