Select Page

       ข้าพเจ้าขอแนะนำและทำความเข้าใจกับผู้ที่ต้องการศึกษาและสะสมพระเครื่องในเบื้องต้นว่า ท่านควรต้องค้นหาตัวเองให้พบก่อนว่าท่านต้องการศึกษาพระเครื่องในแบบใด​ ซึ่งในหมู่นักสะสมพระเครื่องนั้นเราสามารถแบ่งได้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 4 กลุ่ม คือ 1. สะสมเพราะต้องการระลึกถึง”พระธรรม” คือคำสอนของพระพุทธเจ้า​ การมีพระเครื่องติดตัวนั้นเพื่อเป็นการให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น 2. สะสมเพื่อต้องการระลึกถึง”พระเดช-พระคุณ” เช่นการสร้างพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายานต่างๆ หรือพระสงฆ์ที่เคารพนับถือ​ เพื่อให้ท่านช่วยให้ผ่านพ้นและป้องกันอันตรายต่างๆ 3. สะสมเพื่อต้องการหาความรู้ทางโบราณคดีหรือสกุลศิลปะต่างๆและ 4.สะสมเพื่อ”การค้า”เพื่อไว้ให้เช่าบูชาซื้อขาย เมื่อท่านมีจุดประสงค์ที่แน่นอนแล้วจะทำให้ท่านศึกษาพระเครื่องได้อย่างถูกต้องตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการสะสมและศึกษาพระเครื่องในกลุ่มต่างๆข้าพเจ้าขอให้ข้อคิดและคติเตือนใจไว้เป็นข้อๆดังต่อไปนี้
1. อย่าเชื่อถือในบุคคลที่มอบพระเครื่องให้เราไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตามเช่น​ พ่อแม่​ ญาติพี่น้อง เพื่อน​ เจ้านาย หรือใครก็ตาม จนกว่าเราจะได้เห็นและศึกษาพระเครื่ององค์นั้นด้วยตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนและถูกต้องเสียก่อนจึงตกลงใจเชื่อ
2.อย่าสะสมพระเครื่องด้วยความโลภ เช่นเห็นว่าราคาถูกมากกว่าปกติ​ จะเกิดข้อผิดพลาดได้ในภายหลัง
3. อย่าศึกษาพระเครื่องที่ราคาเพราะพระเครื่องแท้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับราคา​ พระเครื่องที่ราคาแพงไม่ใช่จะเป็นพระเครื่องที่แท้เสมอไป พระเครื่องที่ราคาถูกไม่ใช่ว่าจะเป็นของปลอมเสมอไป ให้ศึกษาที่องค์พระเครื่องให้ครบขั้นตอนก่อนเสมอเสียก่อนจึงค่อยตัดสินใจ
4.การศึกษาพระเครื่องด้วยความเร่งรีบหรือเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป หรือพิจารณาเพียงแค่บางจุดยังไม่ครบถ้วนในองค์ประกอบทั้งหมดแต่รีบตัดสินใจเพราะเหตุผลบางประการ เช่นกลัวคนอื่นตัดหน้าหรือเจ้าของเปลี่ยนใจหรือต้องรีบไปทำธุระอย่างอื่น เหล่านี้จะเกิดข้อผิดพลาดตามมาในภายหลังได้​ เช่นบางท่านดูพิมพ์แล้วเห็นว่าถูกต้องก็ตัดสินใจสรุปเลยโดยที่ไม่ไปพิจารณาองค์ประกอบอื่นอีกคือ​ความเก่าหรืออายุ​และมวลสารเนื้อหาว่าครบถ้วนหรือเปล่า​ อย่าลืมว่าคนที่ทำของปลอมเขารู้ว่าคนส่วนใหญ่จะดูแต่พิมพ์และจุดตำหนิตามหลักการที่ถูกสอนหรือบอกต่อกันมาเขาก็มุ่งเน้นทำให้ใกล้เคียงที่สุด​ ​แต่ความจริงแล้วรายละเเอียดพิมพ์นั้นถ้าเรามีของจริงเปรียบเทียบก็จะรู้ว่าทำยังไงก็ไม่เหมือน และความเก่านั้นเขาไม่สามารถทำได้แน่นอน​มวลสารก็เช่นกัน​ ถ้าเรารอบคอบรัดกุมมีวิธีดูที่ถูกต้องใครก็หลอกเราไม่ได้
5. ต้องมีจิตใจที่หนักแน่นเชื่อมั่นในตนเอง ถ้าคิดพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้วในทุกองค์ประกอบด้วยความมั่นใจก็ตัดสินใจได้เลย อย่าเอาคำพูดของบุคคลอื่นหรือเรื่องราวที่ถูกแต่งเติมเสริมขึ้นมาทำให้เราไขว้เขว พระเครื่องแท้นั้นต้องดูด้วยตาไม่ใช่ตัดสินด้วยการฟังจากคำพูดของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งเติมขึ้นมาหรือประวัติที่มาต่างๆนั้นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเล็กน้อยไม่ใช่ข้อมูลหลักในการนำมาตัดสินใจ
6. ค้นหาตัวตนของตัวเองให้พบก่อนว่าเราต้องการศึกษาพระเครื่องแบบไหน ถ้าต้องการศึกษาแบบพาณิชย์ท่านก็ต้องเข้าไปศึกษาตามกลุ่มของพวกเขาเช่าซื้อจากกลุ่มของพวกเขา​หรือท่านต้องการสะสมพระเครื่องแท้ที่เป็นมาตรฐานไม่อิงตามกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดท่านต้องศึกษาที่องค์พระเครื่องตามขั้นตอนให้ครบองค์ประกอบเป็นหลักสำคัญที่สุด
7. ควรเริ่มต้นศึกษาพระเครื่องอย่างถูกวิธีและครบถ้วนในองค์ประกอบทั้ง3อย่างที่ข้าพเจ้านำเสนอไปข้างต้น ซึ่งท่านสามารถนำหลักการนี้ ไปศึกษาพระเครื่องได้ทุกชนิดแม้จะไม่เคยเห็นพระเครื่องชนิดนั้นมาก่อนก็ตาม ไม่ต้องเสียเวลามาจดจำตำหนิพิมพ์ซึ่งมีมากมายจนจำไม่หมด ทำให้เกิดความยุ่งยากและเกิดความท้อแท้ได้
8.พึงระลึกไว้เสมอว่า​ ” พระเครื่องแท้นั้น แท้ที่องค์พระ ไม่ใช่แท้ที่คำพูดของบุคคล หรือคำกล่าวอ้างใดๆทั้งสิ้น”
9.พึงระลึกไว้เสมอว่าพระเครื่องแท้ที่จะมาอยู่ในความครอบครองของท่าน​ ไม่ว่าจะอยู่กับใครที่ไหน​เมื่อถึงเวลาท่านก็จะมาเองอย่ากังวลใจให้มาก ถ้าไม่ใช่หรือไม่ได้มาก็อย่าทุกข์ใจไปเลย
10.​พึงระลึกไว้เสมอว่า​ ก่อนที่จะศึกษาพระเครื่องครั้งใดให้คิดไว้ในใจก่อนเสมอว่าพระเครื่องนั้นอาจจะเป็น”พระเครื่องเลียนแบบ” หรือ”พระเครื่องปลอม” ทุกครั้งเสมอเพื่อความไม่ประมาท​ เพราะจะทำให้เราต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบก่อนทุกครั้ง​ หลักการที่สำคัญของนักศึกษาพระเครื่องที่ดีคือ​ ” หาจุดที่ไม่ใช่ก่อนเสมอ​ อย่าหาจุดที่ใช่ก่อน​” ใช้ขั้นตอนและหลักการนี้ทุกครั้ง
11.พึงระลึกไว้เสมอว่าโอกาสที่ผู้ศึกษาจะเจอพระเครื่องแท้ในสถานที่ต่างๆโดยเฉพาะแหล่งที่ซื้อขายกันทั่วๆไปมีประมาณ10​-15 %เป็นอย่างมาก​ ยิ่งพระเครื่องเก่า​ พระเครื่องที่หายากและพระเครื่องที่มีราคาสูงด้วยแล้วโอกาสที่จะพบพระเครื่องแท้ยิ่งน้อยมาก ดังนั้นท่านผู้ศึกษาต้องควรมีความรอบคอบเป็นอย่างมาก​
12.พึงระลึกไว้เสมอว่าพระเครื่องทุกชนิดที่มีการสร้างขึ้นมานั้นเกิดจากคติความเชื่อของฝ่ายมหายาน​ มีไว้เพื่อให้ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า​และคำสอนของพระองค์ท่าน อย่ามุ่งหวังในเรื่องพระเดช-พระคุณ​จนมากเกินไป​ ควรมุ่งเน้นที่การปฏิบัติในไตรสิกขาคือศีล​ สมาธิ​ และ​ปัญญา​ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า​ จึงจะได้ชื่อเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงที่โชคดีที่สุดที่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นคน(ไทย)​ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว​ ควรรีบเร่งศึกษาธัมมะและน้อมนำมาปฏิบติเสียแต่บัดนี้เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นให้ได้น่าจะเป็นทางเดินที่ประเสริฐที่สุด…..

ปัญหาของการสะสมและศึกษาพระเครื่องในปัจจุบัน
1. ไม่ทราบว่าจะเริ่มขั้นตอนการศึกษาจากจุดใด​ จะสอบถามหรือหาข้อมูลได้จากสถานที่ใดหรือผู้ใดที่จะให้คำตอบหรือข้อมูลที่กระจ่างชัดและถูกต้องได้​ ข้อนี้คือปัญหาอันดับต้นๆของคนที่สนใจพระเครื่องอยู่ในขณะนี้
2. ขาดขั้นตอนและความรู้ความเข้าใจในการศึกษาพระเครื่อง ผู้ศึกษาส่วนใหญ่มักต้องการความรวดเร็วใจร้อน อยากที่จะเรียนรู้เร็วๆ ทำให้ขาดความรอบคอบและ    เกิดความผิดพลาดได้ในที่สุดและหลงตกเป็นเหยื่อของผู้ที่คอยหาประโยชน์ที่มีอยู่มากมายในยุคปัจจุบันนี้
3. การเริ่มต้นศึกษาพระเครื่องด้วยความเชื่อถือในตัวบุคคลมากกว่าการมุ่งเน้นที่จะศึกษาที่องค์พระอย่างมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน หากไม่ตรงกับข้อมูลที่ถูกสอนมาก็จะมองว่าพระเครื่องชนิดนั้นเป็นของปลอมเพราะไม่ตรงกับความรู้ที่ตนมีอยู่​โดยไม่มีคำอธิบายใดๆประกอบ​เพราะใช้วิธีเรียนรู้โดยการท่องจำ​ทำให้มีความคิดอยู่ในวงแคบไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้​ ทำให้พลาดโอกาสที่จะพบกับพระเครื่องของแท้​ หรือมีพระเครื่องแท้อยู่แล้วกลับต้องสูญเสียไปเพราะขาดความรู้ที่แท้จริง
4. มีความเชื่อผิดๆในการศึกษาพระเครื่อง​ โดยศึกษาพระเครื่องที่ราคามากกว่าที่ตัวองค์พระ​ โดยคิดว่าพระเครื่องที่มีราคาแพงต้องเป็นพระเครื่องแท้เสมอไปส่วนพระเครื่องที่มีราคาต่ำต้องเป็นพระปลอม ซึ่งตรรกะนี้จะนำมาใช้ในการศึกษาพระเครื่องไม่ได้​
5. เชื่อมั่นในตัวบุคคล ชมรม หรือสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือหนังสือที่จัดพิมพ์ในรูปแบบต่างๆที่นำมาแสดง​หรือจัดจำหน่ายว่าเป็นของแท้ทั้งหมด ​แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่​เพราะส่วนใหญ่จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงอยู่ทำให้ผู้ที่เข้าไปศึกษาเข้าใจผิดหรือหลงทางได้
6. การเริ่มต้นผิดตั้งแต่การเลือกนำพระเครื่องต้นแบบองค์แรกเข้ามาศึกษา โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแท้จริงหรือไม่ จะทำให้เกิดการจดจำที่ผิดพลาดตั้งแต่ครั้งแรกและทำให้จำผิดพลาดไปตลอดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
7. ไม่ทราบว่าจะหาพระแท้องค์ต้นแบบได้จากที่ไหนมาศึกษา​ เพราะแม้แต่พระเครื่ององค์เดียวกันยังมีความเห็นต่างกันในแต่ละกลุ่มแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ศึกษาพระเครื่องในปัจจุบันนี้
8. ไม่มีองค์กรที่เป็นกลางคอยชี้แนะและบอกวิธีที่เป็นขั้นตอน และมีเหตุผลประกอบในการศึกษาซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง​ จึงทำให้ผู้ศึกษาต้องเดินหลงทางและหาทางออกเอาเอง เพราะปัจจุบันนี้การหาแหล่งข้อมูลในการศึกษาพระเครื่อง ส่วนใหญ่ข้อมูลมาจากผู้ที่อยู่ในอาชีพซื้อขายพระเครื่องแทบทั้งสิ้น ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือแอบแฝงเพราะการมีผลประโยชน์ทำให้การให้ข้อมูลบางครั้งต้องขัดแย้งกับความเป็นจริงทำให้ผลเสียต้องตกอยู่กับผู้ที่ต้องการศึกษาพระเครื่อง
9. มีนักสะสมพระเครื่องบางส่วนมักหลงเชื่อในคำพูดหรือตำนานที่แต่งหรือเล่าขานกันมาในพระเครื่องที่กำลังศึกษาอยู่​ มากกว่าความเชื่อในการศึกษาที่องค์พระเป็นหลักทำให้หลงกลและถูกหลอกจากพวกมิจฉาชีพได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดการศึกษาอย่างเป็นระเบียบและเป็นขั้นตอนทำให้ขาดความรู้ที่จะนำไปวิเคราะห์​
10. มีการสร้างพระเครื่องเลียนเป็นจำนวนมากที่อยู่ในตลาดพระเครื่องในปัจจุบันนี้ โดยที่ไม่มีหน่วยงานราชการหรือองค์กรใดๆเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขหรือมีบทลงโทษอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าผู้ที่ขาดความสนใจหรือความรู้ในการศึกษาพระเครื่องจะพบกับปัญหานี้ได้ง่าย
11.ไม่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความรู้และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงนำพระเครื่องของแท้ (ขอเน้นย้ำว่าของแท้จริงๆ)มาแสดงและแนะวิธีการศึกษาให้ความรู้กับผู้ที่สนใจศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน บางแห่งจัดแสดงให้ชมแต่ไม่ได้แสดงการวิเคราะห์ที่นำมาใช้ศึกษาจริงๆได้

จากปัญหาต่างๆที่ข้าพเจ้าได้ทำการรวบรวมและสอบถามโดยตรงจากผู้ที่ศึกษาและสะสมพระเครื่องทั้งในอดีตและปัจจุบันมาทั้งหมดนี้ทางสถาบันและพิพิธภัณฑ์”พุทธรักษา” สามารถที่จะช่วยแก้ไขและช่วยชี้แนะการแก้ปัญหาต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้เป็นอย่างดี

มีผู้ที่ต้องการศึกษาพระเครื่องหลายท่านที่มีปัญหาคล้ายๆกันคือไม่รู้ว่าจะเริ่มศึกษาจากจุดใดและเริ่มศึกษาได้จากสถานที่ใด​ซึ่งการศึกษาพระเครื่องนั้นถ้าจะให้ผลดีมีประสิทธิภาพ​ ครบถ้วนสมบูรณ์และยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลัก2ประการคือ 1.การหาพระเครื่องแท้ที่มีครบทุกองค์ประกอบเพื่อเป็นองค์ต้นแบบในการเริ่มศึกษาและ 2.ความพร้อมของตัวผู้ที่ต้องการศึกษาเอง
1. การหาพระเครื่องแท้องค์ต้นแบบหรือที่เราเรียกว่าองค์ครู
การเตรียมความพร้อมในข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของนักสะสมในยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีสื่อต่างๆทั้งหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มและสื่อออนไลน์ ซึ่งมีการนำเสนอพระเครื่องแบบต่างๆมากมายและหลากหลายจนผู้ที่ศึกษานั้นเกิดความสับสนไม่ทราบว่าองค์ใดแท้องค์ใดปลอม​ ซึ่งปัญหาในข้อนี้ทางเว็บไซต์สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ท่านได้เพราะพระเครื่องแต่ละชิ้นที่นำมาเสนอนั้นได้ผ่านการศึกษา​มาเป็นเวลาหลายปี ตรวจสอบและคัดกรองมาเป็นอย่างดีที่สุดและการนำเสนอนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีเหตุมีผลที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีข้ออธิบายประกอบ​ ที่สำคัญการนำเสนอพระเครื่องในเว็บไซต์นี้ไม่มีผลประโยชน์ทางการค้าทุกชนิดเข้ามาแอบแฝง แต่ต้องการมุ่งเน้นให้เป็นวิทยาทานอย่างแท้จริง​ ซึ่งข้าพเจ้าได้ศึกษาและสะสมพระเครื่องที่หาชมได้ยากไว้ครบทุกหมวดหมู่​และต้องการเผยแพร่และแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ให้กับผู้ที่สนใจพระเครื่องรุ่นปััจจุบันและรุ่นหลังๆ​ เพื่อจะได้เกิดเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้มากขึ้นไปในวงกว้างจึงได้มีแนวคิดริเริ่มในการจัดทำเว็บไซต์นี้ขี้นมา​ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ข้าพเจ้าจะนำพระเครื่องปลอมหรือพระเลียนแบบมานำเสนอ
2. ความพร้อมของผู้ที่ศึกษาพระเครื่อง
คุณสมบัติที่ดีของผู้ศึกษาและสะสมพระเครื่องที่จะสามารถช่วยให้ประสบความสำเร็จควรจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้
2.1 มีความรักและความมุ่งมั่นที่ต้องการศึกษาพระเครื่องด้วยใจที่บริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาพระเครื่องมีความพร้อมทางใจเสียก่อน เมื่อท่านมีความพร้อมทางใจแล้วท่านก็จะศึกษาพระเครื่องอย่างมีความสุขและประสพผลสำเร็จได้ในที่สุด
2.2 การเตรียมความพร้อมทางร่างกาย การที่จะศึกษาพระเครื่องได้ครบทุกขั้นตอน​ท่านต้องมีความพร้อมทางร่างกายคือความสมบูรณ์ของสมอง​และประสาทตา และ​เพราะการมีประสาทการรับรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์จะสามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ประสาทการรับรู้ทางสายตานั้นสำคัญมากที่สุดในการศึกษาพระเครื่อง ดังนั้นการรักษาสุขภาพของตาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
เทคนิคการรักษาสุขภาพตาที่ควรทราบ
– รู้จักวิธีการในการถนอมสายตาเพื่อให้ประสาทตามีพลังสูงและเสื่อมช้าลงโดยการบริหารกล้ามเนื้อตาแบบง่ายๆคือการกลอกตาไปทางซ้าย​ ขวา​ ล่าง​และบนจนสุดสลับกันไป​ การหรี่หรือเบิกตากว้างสลับกันไปครั้งละประมาณ 5 นาทีวันละ1ครั้งจะช่วยให้กล้ามเนื้อตาทุกส่วนมั่นคงขึ้น
– ต้องรักษาโรคของดวงตาทุกชนิดให้หายขาดเพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการใช้งาน
– ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆเมื่อรู้สึกเมื่อยตาก็ควรหลับตาสักครู่หนึ่งเมื่อลืมตาขึ้นก็ให้มองไปทางต้นไม้สีเขียวหรือใช้ผ้าเย็นวางทับลงบนเปลือกตาสักครู่ใหญ่
– อย่าใช้แสงสว่างปริมาณมากเวลาส่องดูพระเครื่อง ควรใช้แสงสว่างปริมาณที่พอเหมาะคือประมาณ60วัตต์และทำมุมเฉียงประมาณ45องศา
– ต้นกำเนิดแสงควรอยู่ที่10นาฬิกาหรือ2นาฬิกา แต่ถ้าต้นกำเนิดของแสงที่ไม่ใช่แสงจากธรรมชาติและอยู่ที่6หรือ12นาฬิกาจะเป็นการพิจารณาพระเครื่องทวนแสงจะทำให้เกิดการระคายเคืองของตาได้ ถ้าจุดกำเนิดแสงอยู่ที่แนว3หรือ9นาฬิกาการเก็บภาพของประสาทตาจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง
– หลอดไฟควรอยู่ห่างจากพระเครื่องที่​จะศึกษาประมาณครึ่งถึง1 ฟุต
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เผ็ดจัดจะทำให้ประสาทตาเสื่อมได้ง่าย
– การเบ่งมากเป็นประจำจากระบบขับถ่ายผูกจะทำให้แรงดันในลูกตามากอาจจะเสื่อมเร็วและเป็นสาเหตุของต้อหิน
– หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จัดเพราะแอลกอฮอล์ที่คั่งค้างในกระแสโลหิตจะเป็นพิษต่อกลไกการทำงานของประสาทตา
– ขณะที่ผู้ศึกษากำลังมองภาพเป็นเวลานานๆจะทำให้เกิดสภาวะความเครียดทั้งทางประสาทและสายตาเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อของม่านตาเมื่อยล้าและประสาทตาจะลดพลังลงไปครั้งละมากๆเนื่องจากเซลล์ประสาทของม่านตาได้เผาผลาญสารเคมีสิ้นเปลืองไปมากเพื่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้ารายงานภาพไปสู่สมอง ดังนั้นจึงไม่ควรส่องพระเกินครั้งละ2-3นาทีแล้วพักสายตา​ ควรกระพริบตาบ่อยๆขณะส่องพระจะช่วยให้นัยน์ตาแจ่มใสขึ้นและทำให้เกิดความแม่นยำได้มาก
– การหลับตาข้างหนึ่งแล้วใช้ตาอีกข้างหนึ่งส่องกล้องขยายเพื่อดูพระเครื่องเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่แนะนำ​ เพราะจะเป็นการเพิ่มความเครียดของประสาทตามากขึ้นทำให้ตาเสื่อมเร็วขึ้น
– ส่วนมากนักศึกษาพระเครื่องมักจะใช้ตาข้างขวาโดยหลับตาข้างซ้ายด้วยเหตุนี้จะทำให้ตาข้างขวารับภาระหนักเกินไป จึงควรใช้ตาสลับกันทั้งสองข้างจะเป็นการฝึกให้ประสาทตาทั้งสองข้างมีประสบการณ์เท่าๆกันอีกด้วย โทษของการใช้ตาข้างเดียวในการพิจารณาพระเครื่องคือมักจะตัดสินข้อเท็จจริงไม่ค่อยถูก ทั้งนี้เป็นเพราะจะเกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างตาทั้งสองข้างซึ่งมีความชัดเจนแตกต่างกันอยู่เป็นอันมากนั่นเอง แต่ผู้ศึกษานั้นไม่ทราบไม่ว่าสาเหตุทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด
– การพิจารณาพระเครื่องในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อยสมควรหลีกเลี่ยงหรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ใช้เทคนิคในการดูพระในทิศทางที่ย้อนแสง สายตามองที่องค์พระทำมุม5-10องศาและให้เคลื่อนสายตาวนไปรอบๆพระเครื่องในลักษณะขมวดก้นหอยจากวงนอกเข้าสู่วงใน เทคนิคอันนี้จะช่วยแก้ขัดได้บ้างและทำให้การมองเห็นดีขึ้นแต่จะไม่สามารถแยกสีสันวรรณะได้
– ให้พิจารณาพระเครื่องในเวลาเช้าหลังจากนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่​และมีแสงสว่างเพียงพอจะทำให้เกิดความแม่นยำได้อย่างดีเยี่ยมและเกิดความทรงจำได้เป็นเวลานาน
หลักการต่างๆที่ควรนำมาใช้ทุกครั้งเวลาศึกษาและพิจารณาพระเครื่อง
– การสร้างสมาธิและความมั่นใจในระหว่างพิจารณาพระทุกครั้ง​ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาในการพิจารณาเช่นนี้จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างระบบประสาทตากับจิตใจจะเป็นการสร้างความสำเร็จได้เร็วขึ้นและช่วยลดข้อบกพร่องให้ผู้ที่มีระบบประสาทตาที่ไม่สมบูรณ์ได้มากขึ้น
– ควรหาคุณสมบัติของกล้องส่องที่มีคุณภาพดี​เพื่อความคมชัดเวลาใช้งาน​ กำลังขยายที่พอเหมาะที่สุดคือ5-10เท่า สำหรับกล้องส่องที่มีกำลังขยายสูงนั้นใช้เฉพาะบางกรณีที่ต้องการพิสูจน์มวลสารโดยละเอียดเป็นครั้งคราวเท่านั้น
– ในการพิจารณาพระเครื่องทุกครั้งควรพิจารณาพระเครื่องด้วยตาเปล่าเสียก่อนจนสามารถทราบถึงลักษณะพิมพ์และมวลสาร เพราะการพิจารณาด้วยตาเปล่าก่อนนั้นเป็นพื้นฐานของการเปรียบเทียบ จากนั้นจึงใช้กล้องขยายเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบในรายละเอียด ระหว่างการเห็นตามสภาพความเป็นจริงด้วยตาเปล่ากับภาพที่ขยายใหญ่ขึ้น ถ้าเรายังไม่ทราบลักษณะตามธรรมชาติเสียก่อนแล้วไปใช้แว่นขยายในทันทีเราก็จะได้รับเพียงสภาพการเห็นที่ไม่ใช่ธรรมชาติเพราะแว่นขยายไม่ใช่เป็นอุปกรณ์การเห็นที่มีอยู่ในตาตามธรรมชาติจึงทำให้ไม่เกิดการเปรียบเทียบ ส่วนผู้ที่สวมแว่นเป็นปกติอยู่แล้วก็อาจสวมแว่นเวลาพิจารณาพระเครื่องได้เพื่อปรับสภาพการเห็นให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานปกติ
ความคิดที่ควรละเว้นเวลาที่จะศึกษาและพิจารณาพระเครื่อง
– ความศรัทธาหรือความมั่นใจมากเกินไป​ เช่นความมั่นใจในตัวผู้ที่มอบพระเครื่องให้เช่นบอกว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือเคยได้รับการรับรองอย่างดีจากผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็นของดี เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาคิดอยู่สมองในขณะพิจารณาพระเครื่องเพราะจะทำให้เกิดความโน้มเอียงทำให้เกิดความผิดพลาดเห็นของปลอมเป็นของแท้ได้
– ความหวาดระแวง ความคิดแบบนี้ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดในทางตรงข้ามกับความศรัทธาทำให้เห็นของแท้เป็นของปลอมได้ เพราะจิตใจสร้างความหวาดระแวงขึ้นอยู่ก่อนอย่างมั่นคงแล้วว่าจะเจอของปลอม จิตใต้สำนึกเลยเกิดการไม่ยอมรับทราบลักษณะของของจริงเลยทำให้เสียโอกาสในการที่จะได้ของจริง
– ตรวจพระโดยใช้ทางในหรือการปลุกพระ เป็นวิธีที่ไม่อาจยอมรับได้ด้วยประการทั้งปวง โดยหลักการของพระอภิธรรมและวิสุทธิมรรคแล้วผู้ที่จะหยั่งรู้คุณวิเศษของพระเครื่องได้แน่นอนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติถึงขั้นบรรลุอภิญญาจิต​ ซึ่งคุณสมบัติขนาดนี้จะไปแสวงหาจากบุคคลทั่วไปได้จากที่ไหน ความจริงแล้วเป็นการแค่ปลุกตัวเอง เกิดจากปิติ​ ความศรัทธา ความโน้มเอียง ความบันดาลใจและการเคลื่อนของจิตนั่นเอง
– ความรีบร้อน​ ผลีผลาม​ หรือความตื่นเต้นอยากได้จนเกินไปจนเกิดเป็นความโลภซึ่งจะทำให้บดบังปัญญา ดังนั้นจึงควรใช้วิธีพิจารณาด้วยประสาทสัมผัสให้มากที่สุดตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
– ความหลงตัวเอง​ คือความสำคัญผิดในประสบการณ์ของผู้ศึกษาเองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราเรียกว่าความแม่นเท็จซึ่งจัดว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งเราเรียกว่าเป็นการหลอกตัวเองและตั้งอยู่บนความประมาท อุดมคติขั้นสูงสุดนั้นคือความแม่นแท้​ มีหลักการพิจารณาพระเครื่องได้ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการและองค์ประกอบ โดยมีการฝึกฝนจากของจริงและติดตามพิจารณาของปลอมอยู่ตลอดเวลาโดยถือคติที่ว่าความลี้ลับของพระเครื่องนั้นไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งถือว่าเป็นความไม่ประมาทในการศึกษาพระเครื่องอย่างแท้จริง​ ข้าพเจ้าจึงขอแนะแนวทางไว้เพื่อปฎิบัติ.

            ในการศึกษาพระเครื่องทุกชนิดนั้นต้องมีหลักสำคัญในการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพระเครื่องได้ทุกประเภทโดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปจดจำจุดตำหนิปลีกย่อยซึ่งรวมแล้วเราคงไม่สามารถจะจดจำได้หมดอย่างแน่นอน แต่ถ้าเรามีหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณาแล้วจะทำให้เราศึกษาพระเครื่องได้เข้าใจง่ายกว่าสมัยก่อนและสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้  ผมใช้เวลากว่า10 ปีในการศึกษาพระเครื่อง พระพุทธรูป​ พระบูชา พระเหรียญ พระเนื้อดิน เนื้อว่าน เนื้อชิน และเครื่องรางของขลังต่างๆตามแนวทางที่เคยบอกต่อกันมาในอดีต ในช่วงแรกที่ลองนำมาใช้ศึกษาพระเครื่องนั้นรู้สึกว่ายากมากเพราะต้องใช้ความจำอย่างมากซึ่งส่วนใหญ่เกือบ100% คือการจดจำรายละเอียดของตำหนิพิมพ์ต่างๆ แต่จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบันจากผู้ที่เคยศึกษามาแล้วในอดีตที่ข้าพเจ้านับถือเป็นอาจารย์ที่ท่านมีความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะมาก่อนได้ช่วยแนะนำวิธีการศึกษาของท่านให้กับข้าพเจ้ามาอย่างต่อเนื่อง​ทำให้พบว่าน่าจะมีวิธีการหรือหลักการในการศึกษาพระเครื่องที่ดีกว่าการจดจำตำหนิเพียงอย่างเดียวซึ่งเรามักถูกเน้นสอนกันอยู่เสมอตั้งแต่อดีตทุกยุคทุกสมัย ในที่สุดทำให้ข้าพเจ้าได้ค้นพบวิธีและเคล็ดลับในการศึกษาพระเครื่องได้ง่ายและสะดวกขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนโดยนำความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนมานำมาประกอบการศึกษาพระเครื่องควบคู่ไปด้วย จะสามารถช่วยให้ทำความเข้าใจได้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีเหตุมีผลที่นำมาอธิบายประกอบการพิจารณาได้เป็นอย่างดี
                จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการศึกษาพระเครื่องนั้นประการแรกท่านต้องลบความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษาพระเครื่องที่เคยถูกสอนถึงวิธีการในอดีตให้หมดเสียก่อนแล้วจึงเริ่มต้นตามแนวทางที่ข้าพเจ้าแนะนำดังต่อไปนี้ คือประการแรกท่านต้องเข้าใจในพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อนว่าการสร้างพระเครื่องหรือวัตถุมงคลต่างๆ ทุกชนิดนั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ
             1. ผู้สร้าง​ ถ้าไม่ทราบว่าผู้สร้างคือใครก็ควรจะทราบยุคสมัยที่สร้างพระเครื่องชนิดนั้นเพื่อที่เราจะสามารถนำมาคำนวณหาเวลาการสร้างพระเครื่องชนิดนั้นซึ่งหมายถึงอายุของพระเครื่องชนิดนั้นเป็นข้อมูลเบื้องต้น
             2. ช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ทางศิลปะที่ออกแบบแม่พิมพ์และเป็นผู้ที่สร้างพระเครื่องชนิดนั้นซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ใครก็สามารถออกแบบและสร้างพระเครื่องได้​ จะเห็นได้จากเนื้องานที่ออกมาจะเป็นตัวบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี
             3. ชนิดของวัสดุหรือมวลสารที่นำมาใช้ในการสร้างพระเครื่องชนิดนั้น
                องค์ประกอบหลักทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นนั้นบางท่านที่สนใจและเคยศึกษาพระเครื่องมาแล้วอาจจะพอทราบอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่เคยนำมาประกอบในการพิจารณาอย่างเป็นระบบหรือนำมาร่วมในการพิจารณาศึกษาอย่างจริงจัง เพราะอาจจะไม่ทราบว่าถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งแล้วถึงองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างร่วมกันแล้วไม่ใช่แค่พิจารณาเพียงองค์ประกอบเดียวหรือ2องค์ประกอบ ท่านจะศึกษาพระเครื่องได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวในรายละเอียดในแต่ละหัวข้อต่อไป
        1. ผู้สร้างและยุคสมัยที่สร้างพระเครื่องชนิดนั้น ในข้อนี้ผู้ที่ต้องการศึกษาพระเครื่องต้องมีความรู้เบื้องต้นก่อนทุกครั้งที่จะมีการศึกษาพระเครื่องชนิดนั้นๆ ถ้าเราทราบว่าผู้ที่สร้างเป็นใครแล้วเราจะสามารถสืบย้อนไปว่าพระเครื่องชนิดนั้นมีอายุการสร้างมาแล้วกี่ปีแต่ถ้าไม่ทราบผู้สร้างเป็นใครแต่สามารถทราบยุคสมัยที่สร้างได้​ ก็จะสามารถคำนวณย้อนไปได้ถึงจำนวนปีที่มีการสร้างพระเครื่องชนิดนั้น ยกตัวอย่างเช่น เหรียญหลวงพ่อโสธรรุ่นแรก ข้อมูลเบื้องต้นที่เราสามารถทราบได้คือเหรียญนี้สร้างในปีพ.ศ.2460 แสดงว่าเหรียญนี้มีการสร้างมาแล้วเป็นเวลา102 ปีและทำให้ทราบว่าการสร้างเหรียญในสมัย102 ปีก่อนนั้นการสร้างเหรียญจะต้องเป็นเหรียญข้างเลื่อยหลังจากการปั๊มเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วพบว่าเป็นเหรียญข้างตัดปั๊มก็แสดงว่าเหรียญนี้ทำปลอมขึ้นมาในภายหลังผิดยุคสมัยในการสร้างของพระชนิดนั้น  ประโยชน์ข้อที่2ของการทราบอายุคือเมื่อ102ปีก่อนนั้นรายละเอียดของพิมพ์ยุคนั้้นจะต้องเป็นแบบนูนต่ำการแกะแม่พิมพ์สมัยนั้นจะนำเหล็กรางรถไฟมาแกะเป็นแม่พิมพ์ซึ่งรายละเอียดจะแกะได้ไม่ลึกมากเพราะความแข็งของเหล็กรางรถไฟ แต่ถ้าเราพบว่ารายละเอียดของพิมพ์เป็นแบบนูนสูงแสดงว่าการสร้างผิดยุคสมัย ประโยชน์ข้อที่3 ของการทราบอายุคือโลหะที่นำมาสร้างพระเหรียญอายุ102 ปีจะต้องมีความเก่าสมกับอายุคือจะต้องมีคราบสนิมของโลหะชนิดที่นำมาสร้าง เช่นเนื้อทองคำจะมีสนิมสีแดง เหรียญเนื้อเงินจะมีสนิมเป็นสีดำ เป็นต้นถ้าเหรียญที่นำมาศึกษานั้นไม่มีคราบความเก่าของสนิมให้พบเห็นแสดงว่าเหรียญนั้นทำขึ้นมาในภายหลังหรือของปลอมนั่นเอง​และเมื่อนำไปร่วมพิจารณาร่วมกับรายละเอียดพิมพ์ที่มีปัญหาอยู่ด้วยแล้วจะทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้น​ สิ่งนี้คือประโยชน์ของการทราบอายุของพระเครื่องที่เราต้องการศึกษาและสามารถนำไปประกอบเวลาศึกษา​ แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาพบเจอพระเหรียญก็จะรีบส่องหาตำหนิเลยถ้าเจอจุดตำหนิที่ถูกสอนมาก็คิดว่าใช่แล้วโดยไม่พิจารณาว่าเหรียญเก่าสมอายุหรือไม่​รายละเอียดพิมพ์ถูกต้องตามศิลปะที่ออกแบบหรือไม่​ ​วัสดุที่นำมาสร้างถูกต้องตามประวัติการสร้างหรือไม่​ควบคู่กันไปด้วย
        2. ช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านศิลปะที่ออกแบบพิมพ์ของพระเครื่อง ในการศึกษาองค์ประกอบในข้อนี้ท่านผู้ที่ศึกษาต้องระลึกอยู่เสมอและจดจำให้ขึ้นใจว่าพระเครื่องทุกชนิดนั้นจะต้องถูกสร้างจากช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญหรือเป็นผู้ที่ผ่านการร่ำเรียนหรือฝึกฝนทางด้านศิลปะมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะมาทำการออกแบบและสร้างพระเครื่องให้เราได้บูชากันไม่ใช่ใครๆก็สามารถทำได้​ ซึ่งองค์ประกอบข้อนี้สำคัญมากและมักถูกมองข้ามไปจากอดีตที่เคยถูกสอนกันมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพระเครื่องที่ช่างศิลป์สรรค์สร้างออกมานั้นจะต้องมีรายละเอียดต่างๆครบถ้วนทางด้านศิลปะทั้งความสมบูรณ์​ ละเอียด​ อ่อนช้อย​ งดงาม​ มีมิติเสมือนจริง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเรามีพระเครื่อง2องค์ที่มีความแตกต่างกันและเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่ จุดสำคัญที่จะทำให้เราทราบว่าองค์ไหนแท้หรือปลอมนั้นคือการดูศิลปะและรายละเอียดในองค์พระเปรียบเทียบกัน องค์ไหนที่มีองค์ประกอบต่างๆ​ถูกต้องครบถ้วนกว่าแสดงว่าพระเครื่ององค์นั้นถูกสร้างจากผู้ที่มีความรู้ทางด้านศิลปะมาเป็นอย่างดี​ (ที่เรามักเรียกกันติดปากว่า”นิ่มตา” กว่า​ เเต่คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่า”นิ่มตา” คืออะไร​นี่คือที่มาของคำคำนี้)​ และแสดงว่าพระเครื่ององค์นั้นมีโอกาสเป็นพระแท้มากกว่า​ รูปภาพด้านล่าง​เป็นพระสมเด็จจิตรลดาซึ่งสร้างโดยล้นเกล้ารัชกาลที่9​ซึ่งออกแบบพิมพ์โดย​อ.ไพทูรย์​ เมืองสมบูรณ์​ ศิลปินแห่งชาติ​สาขาทัศนศิลป์​ ดังนั้น​ข้อมูลที่ต้องทราบคือองค์พระจะต้องมีความงดงาม​และสมบูรณ์ที่สุด​ แต่เมื่อเราดูรายละเอียดของพิมพ์ในพระทั้ง2องค์​แล้วท่านจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด​ ซึ่งองค์ขวามือจะขาดคุณสมบัติในข้อนี้ไปตั้งแต่พระเกศ​ที่สั้นและเบี้ยว​ พระพักตร์​ที่สั้น​ ลำพระองค์ที่เล็ก​ พระกรทั้ง2ข้างหนาบิดเบี้ยว​ พระบาทที่หนาเทอะ​ เม็ดบัวที่ไม่ชัดเจน​  ภาพโดยรวมจะดูไม่นิ่มตา​แสดงถึงการขาดความรู้ความชำนาญของผู้สร้างทำให้เราตัดสินใจเลือกเก็บสะสมได้ง่ายขึ้น

        3. วัสดุหรือมวลสารที่นำมาสร้าง พระเครื่องต่างๆที่เราพบเห็นนั้นสร้างมาจากวัสดุหรือมวลสารต่างๆมากมายต่างกันไปเช่น โลหะ​ ดิน​ ว่าน​ ฯลฯเราควรมีความรู้เบื้องต้นก่อนว่าพระเครื่องชนิดนั้นสร้างมาจากวัสดุชนิดใด ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าวัสดุชนิดนั้นผิดจากวัสดุต้นแบบที่เคยสร้างในอดีตก็แสดงว่าเป็นพระเลียนแบบ ตัวอย่างเช่นพระเหรียญทองคำหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง ปี 2467 เมื่อเราทราบว่าวัสดุที่ทำนั้นทำจากทองคำเมื่อ95ปีก่อน เบื้องต้นเราสามารถศึกษาด้วยตาเปล่าและกล้องขยายว่าเป็นพระเนื้อทองคำจริงหรือไม่ ทองคำสมัยโบราณนั้นจะมีสีเหลืองสุกกว่าทองคำสมัยปัจจุบันนี้และจะต้องมีคราบสนิมสีแดงของทองคำให้พบเห็นตามสภาพอายุเกือบ100ปี​ สีเหลืองทองขององค์พระที่เป็นทองคำจะต้องไม่สดใหม่หรือมีความวาวของทองคำซึ่งแสดงว่าเพิ่งทำเลียนแบบขึ้นมาภายหลัง นอกจากนั้นเราสามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบวัสดุที่เป็นทองคำ​ โดยค่าเปอร์เซ็นต์ทองคำที่ตรวจสอบได้จากเครื่องมือจะต้องมีค่าไม่ต่ำกว่า70- 80% เป็นอย่างน้อย​ ซึ่งในปััจจุบันเรามีเครื่องตรวจสอบได้สะดวก​รวดเร็วและมีมาตรฐาน ถ้าพบว่า%ทองคำต่ำแสดงว่าเป็นพระเลียนแบบ​ขึ้นมาภายหลัง ตัวอย่างการตรวจสอบ%ทองคำของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งของเหรียญหลวงปู่เอี่ยมเนื้อทองคำฉลุ​ลงยา​ปีพ.ศ.2467 ที่ข้าพเจ้านำไปตรวจสอบ​ ในใบรายงานผลตรวจสอบจะพบปริมาณทองคำที่​ 81.49%(รูปภาพ)

             หลักการนี้เราสามารถนำไปใช้ศึกษาพระเครื่องชนิดอื่นได้เช่นเดียวกันยกตัวอย่างพระพิมพ์เนื้อดินเผากรุนาดูน​ซึ่งมีส่วนประกอบของดินและยังมีโละหะหลักที่ตรวจพบเช่นหล็ก ทองแดง​ และสังกะสี​ แต่ในของเลียนแบบจะพบแต่ดินและทรายเหมือนที่นำมาทำภาชนะดินเผาทั่วไปขาดส่วนประกอบของโลหะหลักแสดงว่าเป็นของเลียนแบบในภายหลัง​เพราะผู้ทำเลียนแบบไม่มีความรู้ในจุดนี้​ นี่คือประโยชน์ของการนำมวลสารมาแยกแยะของแท้และของปลอมในการศึกษาพระเครื่อง​ แต่เราต้องนำแต่ละข้อมูลไปประกอบกันให้ครบทั้ง3องค์ประกอบทุกครั้งก่อนตัดสินใจสรุปสุดท้าย