Select Page

เทวรูป”พระหริหระ” สัมฤทธิ์ สมัยก่อนเมืองพระนคร

“พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวพุทธรักษา” ขอนำเทวรูปหล่อสัมฤทธิ์โบราณที่มีนามว่า “พระหริหระ” (อ่านว่า หะ-หริ-หะ-หระ) (Harihara) ซึ่งเป็นอวตารของการรวมของพระวิษณุ (หริ) และพระศิวะ (หระ) เทพเจ้าในศาสนาฮินดู
พระหริหระ(Harihara) หรืออีกพระนามหนึ่งคือ สังกรนารายน์ เป็นการรวมกันของพระศิวะ และพระวิษณุ สองมหาเทพแห่งศาสนาฮินดู โดยคำว่า “หริหระ” มาจากการรวมคำว่า “หริ” พระนามของพระวิษณุ ซึ่งแปลว่า ผู้ดูและจักรวาล และ “หระ” ซึ่งเป็นพระนามของพระศิวะ แปลว่า ผู้นำไป เคลื่อนไป
(หร แปลว่านำไป (ธาตุ หรฺ) หมายถึงผู้ทรงนำวิญญาณของผู้ตายไป (เพราะถือกันว่าทรงเป็นพระกาล และพระมฤตยูด้วย) และทรงทำให้สรรพสิ่งแตกทำลายเวียนว่ายเป็นวัฏจักร บางท่านตีความว่า หระ หมายถึง ทรงนำความทุกข์ไป โดยเทวรูปจะมีลักษณะเด่นคือมีพระพักตร์เดียว ซีกขวามือของเทวรูปจะเป็นพระศิวะ ทรงชฎามงกุฎ คือการเกล้ามวยผมทรงกระบอก มีพระจันทร์เสี้ยวบนพระเกษา ส่วนซีกซ้ายมือของเทวรูปเป็น พระวิษณุ ทรงกิรีฎะมกุฏ (กิรีฏมงกุฏ) คือหมวกทรงกระบอกอันเป็นสัญลักษณ์ของวรรณะกษัตริย์
คำว่า “หริหระ” บางครั้งก็ใช้กล่าวถึงคำศัพท์ในเชิงปรัชญาที่แสดงถึงการรวมพระวิษณุและพระศิวะในมุมมองที่แตกต่างภายใต้ความสูงสุดเดียวกันคือพรหมมัน แนวคิดของหริหระจึงเทียบเคียงกับ “ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง” ในคัมภีร์ของปรัชญาฮินดูสำนักอทไวตะเวทานตะ
การบูชาเคารพพระหริหระ มีหลักฐานในอินเดียบ่งบอกชัดเจนว่า เริ่มต้นครั้งแรกๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 6 – 7 ดังปรากฏในเหรียญตราหลายเหรียญของพระเจ้าฮูวิสะกะ และเจริญแพร่หลายไปในอินเดียสมัยกลาง รวมถึงมีการสร้างรูปเคารพพระหริหระจำนวนมากบูชากระจายอยู่ทั่วไปในแถบอินเดียภาคเหนือ อินเดียภาคตะวันออก และอินเดียภาคใต้
เทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดของพระหริหระ ถูกค้นพบที่ถ้ำหมายเลข 1 และ 3 ของมนเทียรในถ้ำพทามี ซึ่งสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 6
ในประเทศไทยนั้นมีการนับถือทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกายมานานแล้ว ในยุคใกล้เคียงกันกับบริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศกัมพูชา ซึ่งปรากฎร่องรอยการนับถือศาสนาพราหมณ์เช่นกัน และมีการนับถือทั้งสองนิกาย หลักฐานที่สำคัญของการผสมผสานระหว่างสองลัทธิเข้าด้วยกัน คือการค้นพบเศียรเทวรูปหริหระที่เก่าแก่ที่สุด อายุราว พ.ศ. 1090 – 1150 กำหนดอยู่ในศิลปะแรกเริ่มของกัมพูชายุคเขมรโบราณ คือศิลปะแบบพนมดา
ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 รัฐสุโขทัยก็ได้รับอิทธิพลการบูชาพระหริหระไว้ด้วย เพราะทั้งลัทธิไศวนิกายและลัทธิไวษณพนิกายก็ได้เจริญแพร่หลายมากควบคู่ไปพร้อมๆกับพุทธศาสนา ในสมัยพระยาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1890 – 1922 พบข้อมูลจากจารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ 2) ได้กล่าวเปรียบเทียบพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี กับพระหริหระ และในจารึกหลักที่ 4 (วัดป่ามะม่วง) ได้จารึกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้โปรดให้หล่อเทวรูป พระอิศวร พระวิษณุ ไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตร ป่ามะม่วง เพื่อให้เหล่าพราหมณ์ได้ไปเคารพบูชา
จากการค้นพบเทวรูปสำริดของพระหริหระในสมัยสุโขทัยที่บันทึกไว้โดยกรมศิลปากรนั้นระบุว่า มีลักษณะพระพักตร์จะเหมือนกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ต่างกันแต่เครื่องแต่งกายเท่านั้น ซึ่งลักษณะของเครื่องทรงและอาภรณ์ของเทวรูปเหล่านี้ อาจทำให้กำหนดได้ว่าองค์ไหนหล่อขึ้นก่อนหรือหลังสมัยสุโขทัย
สำหรับเทวรูปพระหริหระองค์ที่ทาง “พิพิธภัณฑ์พุทธรักษา” นำมาแสดงให้ศึกษานี้มีข้อมูลและรายละเอียดต่างๆที่สำคัญดังนี้
– เป็นการหล่อขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย โดยการพิจารณาจากลักษณะของรายละเอียดพระพักตร์(ใบหน้า)และเครื่องทรงและอาภรณ์ของเทวรูป
– สัณนิษฐานว่าน่ามีการสร้างขึ้นในอาณาจักรขอมโบราณตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยพนมดา (พ.ศ.1057-1143) ซึ่งมีหลักฐานการค้นพบเทวรูปพระหริหระหลายองค์ที่สร้างขึ้นในยุคดังกล่าว
– มีขนาดความสูง 135เซ็นติเมตรเมตร (ขนาดประมาณ 2ใน3 ของความสูงของคน)
– พระเศียรยอดเป็นทรงกระบอก ด้านขวามือของพระเศียรทรงชฎามงกุฏคือเกล้ามวยผมทรงกระบอกประดับด้วยรูปพระ จันทร์เสี้ยว มีพระเนตรที่ ๓ บริเวณกลางพระนลาฏซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ส่วนพระเศียรด้านซ้ายมือเป็นหมวกรูปทรงกระบอกที่หมายถึงวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์
– รายละเอียดพระพักตร์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีพระขนง(คิัว)คิ้วแบบปีกกา พระเนตรเปิดเห็นตาดำ พระนาสิก(จมูก) เล็กดั้งจมูกโด่งเป็นสันคม พระโอฐ(ปาก)เล็กเป็นรูปกระจับสวยงาม พระหนุ(คาง)เป็นปม
– เครื่องอาภรณ์(แต่งกาย)ด้านบนไม่มีอาภรณ์สวมใส่ ส่วนด้านล่างมีการนุ่งผ้าแบบ
“สมพต”คือการนุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า เป็นการนุ่งผ้าที่นิยมในอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ลักษณะลายผ้าเป็นแบบเรียบ
– ทรงสัญลักษณ์อันเป็นสิริมงคลที่พระหัตถ์ทั้ง 4 โดยพระหัตถ์ขวาถือกงจักรและคนโทน้ำอมฤต พระหัตถ์ด้านซ้ายถือพระคัมภีร์และพระขรรค์
– หล่อโบราณด้วยสัมฤทธิ์ มีสนิมที่หนาเก่าจัด สีเขียวอมเทา
– มีดินใต้ฐานเก่าและแกร่งมาก บ่งบอกถึงอายุความเก่าหลายร้อยถึงกว่าพันปี
ฃ ท่านสามารถศึกษาพระเครื่องหมวดต่างๆเพิ่มเติมของ”พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวพุทธรักษา”แหล่งรวบรวมข้อมูลและสะสมพระพุทธรูป,พระบูชา,พระเครื่องทุกหมวดหมู่,เครื่องรางของขลังและเครื่องถ้วยโบราณจากแหล่งต่างๆที่หาชมยากและมากที่สุดของเมืองไทย ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นวิทยาทาน โดยไม่มีจุดประสงค์เพื่อการค้าหรือการพาณิชย์ใดๆมาแอบแฝง ได้ที่ช่องทาง
-เว็บไซต์​ www.puttharugsa.com
-เฟสบุ๊คเพจ”พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวพุทธรักษา”
-ช่องยูทูป” พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวพุทธรักษา”