หลักการศึกษาเบื้องต้นของเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลักสำคัญ3ประการเช่นเดียวกับการศึกษาพระเครื่องชนิดอื่นๆทุกชนิดคือ
- มวลสารหรือวัสดุที่ใช้สร้างต้องเป็นเขี้ยวเสือเท่านั้น
- รายละเอียดหรือพิมพ์ในการแกะเป็นรูปร่างของเสือแบบต่างๆรวมถึงการจารตัวอักขระด้วย
- ความเก่าของเขี้ยวเสือที่สมอายุกว่า 100 ปี
1.การพิจารณาเขี้ยวเสือของแท้ เบื้องต้นต้องมีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคของเขี้ยวเสือเสียก่อนว่า เขี้ยวเสือคือส่วนที่เป็นฟัน จะต้องประกอบด้วยเนื้อฟันที่อยู่ด้านในและตัวเคลือบฟันที่อยู่ด้านนอกเช่นเดียวกับฟันของมนุษย์ที่ต้องมีความมันวาว แต่เขี้ยวเสือนั้นจะมีความพิเศษกว่าเพราะเป็นสัตว์กินเนื้อที่ต้องใช้ฟันหรือเขี้ยวเป็นอาวุธในการสังหารเหยื่อ ดังนั้นเขี้ยวของเสือจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษทั้งในเรื่องความแข็งแรง ความยาวและความแหลมคม ซึ่งความหนาของเขี้ยวนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้เพิ่มความแข็งแรงเพื่อใช้สังหารและลากเหยื่อ ความหนาของเขี้ยวนั้นจะนำไปใช้ในการแยกชนิดของเขี้ยวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย คุณสมบัติอีกประการของเขี้ยวเสือคือจะต้องมีความแกร่งและทนต่อความร้อนได้ดี โดยสามารถทนต่อการทดสอบได้ด้วยการลนไฟได้ ซึ่งนำไปใช้ในการทดสอบความแตกต่างของเขี้ยวเสือแท้กับเรซินหรือพลาสติกหล่อ หลังจากนั้นควรทราบลักษณะทางกายภาพของเขี้ยวสัตว์แต่ละชนิดที่คล้ายกับเขี้ยวเสือเพื่อเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพและจดจำความแตกต่างที่ชัดเจนเหล่านี้ไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เวลาที่ไปพบกับเขี้ยวสัตว์ในสนามหรือสถานที่ต่างๆที่เราได้ไปพบ จะได้นำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะจุดนี้ถือว่าเป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุดเพราะถ้าเราพิสูจน์ได้ก่อนว่าไม่ใช่เขี้ยวเสือก็ไม่ต้องไปตรวจสอบส่วนอื่นที่เหลือ
2.1 พิจารณาดูว่าการแกะลวดลายนั้นเกิดจากการใช้มือแกะหรือใช้เครื่องมือเช่นเครื่องกรอฟันมาช่วยแกะ จุดนี้เราพิจารณาจากร่องรอยและเส้นต่างๆถ้าใช้มือแกะความตื้นลึก ความตรงของเส้นขอบของร่องต่างๆจะไม่เท่ากันแต่ถ้าใช้เครื่องมือกรอ ร่องก็จะเรียบร้อยเส้นสายต่างๆและความลึกก็ชจะเท่ากันหมดแสดงว่าผิดธรรมชาติภาพด้านล่างแสดงให้เห็นว่าในพื้นร่องที่แกะนั้นจะไม่เรียบแต่พื้นจะเป็นคลื่นและมีร่องรอยการใช้อุปกรณ์แกะให้เห็นชัดเจน ถ้าเป็นการใช้เครื่องกรอฟันมาแกะพื้นจะเรียบเสมอกันหมด(ภาพประกอบ)
2.2 ลักษณะเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานนั้นจะมีรูปแบบพิมพ์ทั้งที่เป็น”เสือแกะเต็มเขี้ยว” “เสือแกะเขี้ยวซีก(ส่วนหนึ่งของเขี้ยว)” และเสือที่แกะจากปลายเขี้ยวที่มีขนาดเล็กมากเรียกว่า”เขี้ยวสาลิกา” ส่วนรูปแบบการแกะนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะจนมีคำกล่าวที่ว่า”เขี้ยวเสือโปร่งฟ้า(เขี้ยวต้องกลวง) หน้าแมว หูหนู ยันต์กอหญ้า ตาลูกเต๋า” ข้อสังเกตคือนิ้วเท้าที่ช่างแกะจะมีข้างละ4นิ้วรวมทั้ง4เท้าเป็น16นิ้วซึ่งเรียกว่ามี16โสฬสตามสูตรตัวเลขแห่งโชคลาภและความสำเร็จ ตามภาพด้านล่าง
2.3 พิจารณาการจารด้วยมือของหลวงพ่อปาน ธรรมชาติของการจารนั้นจะเปรียบเหมือนกับการเขียนหนังสือน้ำหนักมือในการจารมักจะไม่เท่ากันทำให้เส้นของตัวจารจะลึกตื้นไม่เท่ากันและมักจะมีการตวัดมือตอนจบของปลายตัวอักขระซึ่งจะทำให้มองเห็นปลายเส้นที่เล็กลง ดังนั้นเส้นที่จารแล้วมีความลึกเท่ากันทุกตัวอักษรแสดงว่าตั้งใจทำมากเกินไปไม่เป็นธรรมชาติเป็นข้อสังเกตไว้ด้วย ลักษณะของจารของหลวงพ่อปานก็จะเป็นเอกลัักษณ์เฉพาะตัวท่านจะจารตวัดเร็วแต่สวยงามชัดเจน ซึ่งจะเหมือนกันในเขี้ยวเสือทุกชิ้น ส่วนอักขระที่ท่านใช้จารนั้นที่พบเห็นจะมีการจารเป็นตัว”อุ” มีทั้งหางชี้ขึ้นและหางดิ่งลง การจารคล้ายเลข3และเลข7ไทย การจารยันต์กอหญ้าและการจารตัว ฤ ฤา ส่วนตำแหน่งของการจารนั้นส่วนใหญ่แล้วจะพบในตำแหน่งหลักๆไม่กี่จุด ตำแหน่งที่ต้องพบเสมอเช่น
- ด้านหน้าของขาคู่หน้าส่วนใหญ่จะเป็นยันต์อุหางขึ้นหรือหางลงเหมือนกันทั้ง2ข้าง
- ด้านข้างลำตัวทั้ง2ข้างส่วนใหญ่จะเป็นเลข7ไทยเหมือนกันทั้ง2ข้าง
- ต้นขาหรือสะโพกหลัง2ข้างส่วนใหญ่จะเป็นเลข7ไทยเหมือนกันทั้ง2ข้าง
- บริเวณใต้ฐานจะจารเป็นยันต์กอหญ้า2ด้านอยู่ตรงข้ามกันหรือบางชิ้นจะจารเพิ่มสลับกับ ตัวฤ ฤา หรือบางครั้งมียันต์อุด้วย
- บริเวณใบหน้าใต้หูทั้ง2ข้าง จุดนี้พบไม่บ่อยนัก จะจารเป็นเลข7ไทย
- บริเวณก้นหรือบั้นท้ายที่โคนหางจะพบน้อยกว่าจุดอื่นๆ
การทำเขี้ยวปลอมที่พบได้มีวิธีต่างๆ
- ใชัเขี้ยวสัตว์ชนิดอื่นมาแทน
- ใช้กระดูกสัตว์
- ใช้สร้างเทียมขึ้นมาใหม่จากเรซินหรือพลาสติก
การทำสีเขี้ยวปลอมให้เหมือนเขี้ยวเสือ
- เอาเขี้ยวหมี หมูป่า เขี้ยวสุนัข มามาเคี่ยวด้วยน้ำมันงาเพื่อทำให้สีดูเข้มขึ้นและดูเป็นมัน ซึ่งเขี้ยวที่คั่วน้ำมันงาจะดูเยิ้มเพราะอมน้ำมัน แต่เขี้ยวจริงนั้นจะดูแห้ง ใส เหลืองเป็นมันวาว บางครั้งเมื่อคั่วน้ำมางาเสร็จแล้วจะนำมาต้มอีกครั้งเพื่อไล่น้ำมันออกก็จะทำให้ผิวดูด้านขึ้นไม่วาวซึ่งจะทำให้จับผิดได้ง่ายขึ้น
- ใช้กระดูกสัตว์มาทำจะแยกออกได้ง่ายด้วยการดูที่ผิวนอกจะดูด้านและไม่วาวเหมือนเขี้ยวเพราะว่าธรรมชาติของผิวนอกของกระดูกจะด้านกว่าเขี้ยว เสร็จแล้วเอาต้องมาเจาะรูแล้วนำไปย้อมสีหรือคั่วน้ำมันงา
- นำเรซินไปแช่ด่างทับทิมหรือทิงเจอร์ไอโอดีนจะทำให้เกิดคราบสีเหลืองติดที่ผิวแล้วจึงนำมาขัดจากนั้นนำไปเจาะรู วิธีนี้สีของเขี้ยวปลอมจะเข้มเท่ากันหมดผิดธรรมชาติ เขี้ยวแท้นั้นจะไม่เป็นสีเดียวกันทั้งหมดมีแก่อ่อนต่างกันไปและให้ดูสีที่อยู่รอบๆใกล้รูตรงกลางสีจะต้องอ่อนกว่าส่วนที่อยู่ห่างออกไปเสมอ
ภาพรายละเอียดแบบต่างๆของเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน
3.1 แกะแบบซ้อน2ตัวโดยมีตัวบนและตัวล่าง(ตามภาพด้านล่าง)