Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

พระปิดตาหลวงปู่ เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพระปิดตาที่มีค่านิยมสูงสุดซึ่งจะเป็นรองก็เพียงพระปิดตาของ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรีเท่านั้น และทั้ง 2ท่านนั้นยังมีช่วงอายุขัยที่อยู่ในยุคเดียวกันด้วย การสร้างจะอยู่ในช่วง 125ปี-168ปีที่ผ่านมา ในขณะที่หลวงปู่เอี่ยมท่านเริ่มเข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสจนกระทั่งมรณภาพที่วัดสว่างอารมณ์หรือวัดสะพานสูง จ.นนทบุรีในปัจจุบันนี้
เนื่องจากความเลื่อมใสศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ที่บอกเล่าต่อๆกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันบวกกับค่านิยมที่สูงในอันดับต้นๆในหมวดพระปิดตาด้วยกัน ทำให้มีผู้คิดพระปิดตาทำเลียนแบบของท่านขึ้นมามากมาย ดังนั้นทางเพจจึงขอนำข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญพร้อมทั้งวิธีการพิจารณาที่ถูกต้องมาให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาข้อมูล
หลักการในการพิจารณาคือเราต้องทราบว่า
1.มวลสารหรือวัสดุที่ใช้สร้างพระปิดตาทำจากอะไร?
พระปิดตา ลป.เอี่ยม วัดสะพานสูงนั้นสร้างจากเนื้อผงวิเศษ 5ประการ(อิธะเจ,ปถมัง,มหาราช,พุทธคุณและตรีนิสิงเห)แบบเดียวกับที่ใช้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังนอกจากนั้นยังมีส่วนผสมของเนื้อว่านต่างๆรวมทั้งชาดและรักไทย(รักดำ) ซึ่งรักและชาดนี้มีทั้งที่นำมาคลุกผสมกับมวลสารทั้งหมดก่อนแล้วจึงค่อยนำไปกดพิมพ์เรียกว่า “เนื้อผงคลุกรัก”และมีอีกแบบที่นำเฉพาะเนื้อผงและเนื้อว่านมาผสมกันโดยไม่มีชาดหรือรัก แล้วนำมากดพิมพ์ เมื่อได้องค์พระเรียบร้อยแล้วจึงนำมาทาหรือจุ่มด้วยชาดและรักเป็นขั้นตอนสุดท้ายเรียกว่า “เนื้อผงจุ่มรัก”
– “เนื้อผงคลุกรัก” มีลักษณะภายนอกเป็นสีน้ำตาลเข้มอมดำ,ผิวภายนอกจะขรุขระไม่เรียบเนื่องจากนำทั้งเนื้อผง,เนื้อว่านต่างๆที่บดด้วยมือแล้วนำมาคลุกผสมกับชาดและรักทำให้เนื้อพระค่อนข้างหยาบ เมื่อนำมากดพิมพ์และองค์เริ่มหดตัว,คายความชื้นออกมาในช่วงเวลากว่า125ปี เนื้อจะเกิดการรัดตัวเกิดผิวที่ขรุขระคล้ายผิวมะกรูด แต่ของปลอมจะทำจากเนื้อปูนละเอียด ผิวนอกจะดูเรียบให้ท่านสมาชิกสังเกตไว้
– เนื้อผงจุ่มรักลักษณะภายนอกที่เห็นจะเป็นสีดำเข้มของรักไทย(รักดำ)และเห็นสีแดงของชาดในบางจุด ลักษณะของรักจะหนาบางไม่เท่ากัน ใตัก้นจะหนากว่าเเละรักแห้งมาก,หดตัวผิวแตกและหลุดเปิดออกให้เห็นเนื้อในซึ่งพบได้ในบางองค์ ส่วนของปลอมสีรักจะไม่ดำสนิทและผิวจะเรียบตึงไม่มีการหดตัว ในของปลอมองค์ที่ผิวเปิดเนื้อในจะละเอียดมากและเป็นสีขาว แต่ของแท้เมื่อผิวเปิดจะเห็นสีแดงอมน้ำตาลของชาดและรักที่ทาปิดไว้ชั้นใน และเมื่อผิวในเปิดออกอีกจนเห็นเนื้อในลึกลงไปจะเห็นเนื้อเป็น”สีขาวอมเหลือง” นี่เป็นข้อแตกต่างที่ต้องสังเกตไว้
2.วิธีการสร้างเป็นแบบไหนและมีรายละเอียดพิมพ์ที่สำคัญอะไรบ้าง
– วิธีการสร้าง
1.จะเป็นพระกดพิมพ์ โดยมีแบบแม่พิมพ์ 2ชิ้นประกบหน้าและหลัง ดังนั้นองค์พระแท้จะพยว่าที่กึ่งกลางด้านข้างตลอดแนวจะสังเกตเห็นรอยต่อของแบบพิมพ์ในทุกองค์ ในองค์ที่จุ่มรักจะเห็นรำไรเนื่องจากเนื้อรักหุ้มไว้ ในของปลอมจะไม่มีหรือถ้ามีรอยต่อจะตั้งใจทำมากไปจนไม่เป็นธรรมชาติ
2.เนื่องจากเป็นพระกดพิมพ์ ดังนั้นรายละเอียดพิมพ์จะต้องชัดเจน,สมบูรณ์,งดงามมากโดยเฉพาะ”เนื้อผงคลุกรัก” พิมพ์จะสมบูรณ์งดงามกว่าเนื้อผงจุ่มรัก ส่วนของปลอมพิมพ์จะไม่สมบูรณ์ขาดความงดงาม มีความต่างมาก เมื่อนำมาเทียบกัน พิมพ์พระปิดตาของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูงจะเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและจากรูปร่างเฉพาะนี้จึงเป็นที่มาที่คนมักเรียกชื่อพิมพ์ว่า “พิมพ์ตะพาบ”
– รายละเอียดพิมพ์ มีจุดสังเกตุดังนี้
1.ภาพรวมสมบูรณ์ชัดเจน,งดงาม,สมส่วน
2.เศียร(ศรีษะ)ค่อนข้างกลมโดยเฉพาะด้านหลังจะไม่แบน
3.”ไหล่ขวาจะยกสูงกว่าข้างซ้ายเสมอ”เป็นจุดสำคัญมาก ในสมัยก่อนคือจุดตายที่ใช้กันแต่ปัจจุบันจะต้องดูให้ครบถ้วน
4.ไหล่,ต้นแขน,แขนท่อนล่างโค้งกลมสวยงาม,มือที่ปิดหน้ามีทั้งแผ่แบออกและนูนเล็กร้อยที่บางท่านเรียกว่าพิมพ์พนมมือ
5.ลำตัวอวบกลม,สมบูรณ์ ตั้งตรง
6.เข่าทั้ง 2ข้างใหญ่ โค้งมนได้สัดส่วน ของปลอมเข่าจะเล็กและแคบ
7.ขาและเท้าชัดเจน,โค้งงดงาม เสมือนคนนั่งจริง มีการซ้อนทับกันของขาและเท้าทั้ง 2อย่างสวยงามสมจริง เห็นเป็นรูปขาและเท้าสวยงาม “ของปลอมจะต่างไปชัดเจนมาก “ให้จดจำลักษณะของเข่า,ขาและเท้าให้แม่นยำ
3.อายุความเก่า เนื่องจากพระปิดตาของ ลป.เอี่ยมนั้นมีอายุกว่า125ปี จะต้องมีความเก่าให้เห็นเสมอและเราจะสังเกตความเก่าที่สมอายุได้อย่างไร
– เนื้อผงคลุกรัก”สังเกตความเก่าจาก การหดตัวขององค์จะมากเกิดเป็นผิวมะกรูดทั้งองค์ และสีจะเป็นน้ำตาลเข้มอมดำ บางจุดมีแผ่นเล็กๆของรักหรือชาด ของปลอมสีจะไม่ใช่และผิวเรียบเสมอกันหมดของเนื้อปูน
– “เนื้อผงจุ่มรัก” ความเก่าจะสังเกตจากรักที่แห้งมาก,หดตัวเหี่ยวย่น,บางจุดปริแยกเห็นช่องว่างระหว่างชั้นนอกคือรักและเนื้อผงด้านในชัดเจนมาก(มีภาพตัวอย่าง)
ถ้าเราทรายข้อมูลครบถ้วนทั้ง3อย่าง แล้ว และพระปิดตาที่เราดูมีครบหมดทั้ง 3ประการนั่นคือพระแท้ แต่ถ้ามีไม่ครบทั้ง 3ประการถือว่ายังไม่ใช่
ทางเพจได้นำภาพพระแท้ 4ขนาดจากเล็กสุด 1ซม.เศษจนถึงใหญ่สุด 2 ซม.เศษ มีทั้ง”เนื้อผงคลุกรัก”และ”เนื้อผงจุ่มรัก”มาให้ท่านสมาชิกได้ชมและเพื่อศึกษาเปรียบเทียบอย่างครบถ้วน
ท่านสมาชิกสามารถศึกษาพระเครื่องหมวดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ www.puttharugsa.com