Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

พระปิดตา​หลวงพ่อแก้ว​ วัดเครือวัลย์​ จังหวัด​ ชลบุรี​ เป็นพระปิดตาที่มีค่าความนิยมสูงสุดของประเทศไทย​ ซึ่งทางเพจได้นำมาแสดงให้ท่านสมาชิกชมทุกแบบพิมพ์, ทุกเนื้อ, ทุกขนาด​ เพื่อให้ท่านสมาชิกจะได้นำไปใช้พิจารณาและศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการเก็บสะสมต่อไป
พระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว​ นั้น​เป็นพระเนื้อผงผสมว่านที่มีอายุการสร้างมากว่า​ 100ปี​ ตามชีวประวัติของหลวงพ่อแก้ว​ วัดเครือวัลย์​ ที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป​ และเท่าที่มีข้อมูลและประวิติการสร้างสามารถแบ่งได้ออกเป็น​ 2กลุ่มใหญ่คือ
1.พระปิดตาที่มีแบบแม่พิมพ์​ แบ่งย่อยออกได้เป็น​ 2แบบตามชนิดของวัสดุหรือมวลสารที่ใช้สร้าง​คือ​เนื้อผงผสมและเนื้อโลหะ(เนื้อชิน)​
1.1พระปิดเนื้อผงผสมว่าน​ 108​ ซึ่งเกิดจากการนำผงวิเศษทั้ง​ 5อย่างคือผงพุทธคุณ,อิทธเจ,มหาราช,ปถมังและตรีนิสิงเห​ ที่ใช้ในการสร้างพระเครื่องเนื้อผงยุคโบราณนำมาผสมกันกับเนื้อว่าน​ 108ที่เป็นไม้มงคล​ที่นำมาบดแล้วผสมกับเนื้องผงแล้วนำไปกดลงในแม่พิมพ์ที่ออกแบบเตรียมไว้ ที่มีทั้งแบบเนื้อผงคลุกรักและเนื้องจุ่มรัก​ ส่วนรักที่ใช้นั้นเป็นรักไทยสีดำ และส่วนใหญ่จะมีการลงชาด(สีแดงที่แทรกอยู่ในเนื้อรัก)​อยู่เสมอ​ ทำให้บางท่านเข้าใจผิดและให้ความเห็นว่าเป็นรักจีนเพราะเห็นว่ามีสีแดง​ ซึ่งการลงชาดและรักนั้นมักจะมีการนำมาใช้รักษาเนื้อผงตั้งแต่สมัยโบราณที่เรียกกันติดปากว่า​ “ลงรัก​ ปิดทอง​ ร่องชาด” เนื่องจากชาดมีคุณสมบัติในการยึดติดกับเนื้อผงได้ดีกว่ารักจึงถูกนำมาใช้ร่วมกับชาดอยู่เสมอ
– พระเนื้อผงผสมว่านนั้นถ้าแบ่งตามขนาดจะแบ่งได้​เป็น​ 3แบบได้แก่​ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก
– พระเนื้อผงผสมว่านนั้นถ้าแบ่งตามแบบแม่พิมพ์ที่สร้าง​จะแบ่งได้เป็น​ 2แบบได้แก่​ พิมพ์หลังแบบ​ และพิมพ์หลังเรียบ
1.2​ พระปิดตาเนื้อชิน​ ที่พบมี​ 2ขนาด
-พิมพ์ใหญ่​ มี​ 2แบบคือ​ หลังแบบและหลังเรียบ
-พิมพ์เล็ก​ มีเฉพาะหลังเรียบ
2.พระปิดตาแบบลอยองค์หรือที่เรียกกันว่าพิมพ์ปั้นด้วยมือ(ไม่มีแบบแม่พิมพ์)​ มีการสร้างทั้งที่วัดปากทะเล​ จ.เพชรบุรี​ และที่วัดเครือวัลย์​ จ.ชลบุรี​ พิมพ์ลอยองค์นี้เข้าใจกันว่าน่าจะเป็นพระปิดตาที่ท่านได้สร้างขึ้นในช่วงแรก​ๆ มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก, มีทั้งเนื้อผงจุ่มรักและเนื้อผงคลุกรัก​ การสร้างโดยใช้เนื้อผงผสมว่าน​ 108แล้วปั้นด้วยมือให้เป็นรูปร่างแล้วจึงตกแต่งรายละเอียดเป็นพระปิดตาด้วยเครื่องมือที่เป็นของมีคมเพราะร่องรอยที่เป็นส่วนลึกส่วนเว้านั้นมีเหลี่ยมมุมที่ค่อนข้างคมเป็นสันจากเครื่องมือที่ใช้​ การพิจารณานั้นให้พิจารณาที่เนื้อผงผสม​ ทั้งที่คลุกรักเเละจุ่มรัก​ การพิจารณาเนื้อผงผสมต้องเก่า, เนื้อผงมีการหดตัวไม่เรียบตึงบวมเหมือนของใหม่​ ในองค์จุ่มรักนั้นความเก่าถึงอายุของรักคือตัวบ่งชี้ได้เป้นอย่างดี​ ขอให้ท่านสมาชิกพิจารณาพระตัวอย่างที่ทางเพจนำมาแสดงให้ชมอย่างรอบคอบ​ ทั้งลักษณะของเนื้อผง, ลักษณะของพิมพ์ที่นิ่มตา, ความเก่าของรัก, สีของเนื้อผง, สีและเนื้อของรักไทย
การพิจารณานั้นอาศัยองค์ประกอบ​ 3ประการเช่นเดียวกันกับการพิจารณาพระเครื่องทุกหมวดก็คือ
1.อายุความเก่าต้องถูกต้องตามประวัติการสร้างคือ​มากกว่า​ 100ปี​ ซึ่งการพิจารณาความเก่านั้น​ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะใช้ตรวจสอบหาอายุความเก่าของเนื้อผงได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้​ จึงทำให้มีผู้แอบอ้างได้ง่าย​ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการพิจารณาโดยการคาดคะเนโดยการเทียบเคียงจากความเก่าของวัสดุที่ใช้สร้างคือ
-ความเก่าของเนื้อผงผสมว่านโดยพิจารณาโดยใช้กล้องส่องขยายปกติธรรมดาก็เพียงพอ​ ให้พิจารณาความเก่าของเนื้อผงผสมว่านถ้าเป็นชนิดเนื้อผงคลุกรักที่เก่าสมอายุนั้น​ สีจะเป็นสีน้ำตาลอมดำเนื้อผงจะต้องมีการหดตัวมาก​ ผิวนอกจะไม่เรียบเพราะเนื้อผงผสมว่านเนื้อจะไม่ละเอียดเหมือนเนื้อผงล้วน(ของปลอม)​ทำให้เห็นผิวขรุขระคล้ายๆผิวมะกรูด​ แต่ในองค์ที่เป็นเนื้อผงชุบรักหรือจุ่มรักที่บิเวณที่ผิวรักเปิดออกเห็นเนื้อผงด้านในจะมีสีน้ำตาลและผิวจะเรียบกว่าเนื้อผงคลุกรักเพราะมีรักปิดอยู่ตอนที่สร้างครั้งแรกเมื่อผิวรักหลุดหรือเปิดออกผิวจึงดูเรียบกว่า
-ความเก่าของรักและชาด​ โดยการพิจารณาธรรมชาติทั้งสี, เนื้อ, ความ​หนา​ และเมื่อกาลเวลผ่านไปกว่า 100ปีลักษณะของผิวที่จะต้องแห้งมากมีการยุบตัว,หดตัวจนเกิดการแตกรานที่ผิวให้เห็น​ ที่ของเลียนจะไม่มี​ ซึ่งจุดเหล่านี้จะต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและความรอบคอบโดยใช้กล้องส่องขยายดูที่ละจุดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง, ด้านข้าง
-ความเก่าของเนื้อโลหะ(ชิน)​โดยพิจารณาความเก่าได้จากลักษณะทางกายภาพของไขสีขาวและสนิมสีแดงของเนื้ิอชินที่เก่าสมอายุ​ จะต้องมีให้พบเห็นและเป็นธรรมชาติไม่ใช่ไขและสนิมที่ตั้งใจทำขึ้นมา​ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากที่ธรรมชาติสร้างขึ้น​ ดังนั้นถ้าท่านไม่เคยเห็นไขและสนิมเนื้อชินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจจะทำให้หลงทางจากกลุ่มคนที่ทำเลียนแบบขึ้นมาได้
2.วัสดุและมวลสารที่สร้างต้องถูกต้อง​ ต้องทราบลักษณะทางกายภาพของเนื้อผงผสมว่าน, รักและชาด​ในสมัยโบราณกว่า100ปี เพราะพระเลียนแบบจะมีเนื้อผงและรักที่ใหม่และลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันชัดเจน​ ซึ่งเนื้อผงผสมนั้นจะมีเนื้อค่อนข้างหยาบมีสีขาวอมเหลืองเมื่อคลุกกับรักไทยที่มีสีดำจะเห็นเนื้อผงเป็นสีน้ำตาล​ แต่ของปลอมเนื้อจะเป็นปูนละเอียดและสีจะทำขึ้นดูผิดธรรมชาติ
3.รายละเอียดพิมพ์และวิธีการสร้างต้องถูกต้อง​
-รายละเอียดพิมพ์ที่ถูกต้อง​ เนื่องจากเป็นพระที่ที่มีการออกแบบแม่พิมพ์ชัดเจน(ยกเว้นในพิมพ์ลอยองค์, พิมพ์ปั้น)​ดังนั้นรายละเอียดพิมพ์จึงมีความจำเป็นในการพิจารณาเสมอ​ องค์พระต้องสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยวผิดรูปแบบ, แหว่ง​, รายละเอียดต่างๆต้องมีความชัดเจนจากการหดตัวของเนื้อผงผสม, มีความงดงาม, มีมิติ, นิ่มตาในภาพรวม​ ถ้าท่านได้เคยพิจารณาของแท้จะทราบความแตกต่างในรายละเอียดได้​ “ในของปลอมกับของแท้จะมีรายละเอียดครบเท่ากันก็จริง​ แต่ถ้าพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน​ ซึ่งบางครั้งยากจะอธิบายออกมาให้ละเอียดเป็นข้อความได้ แต่ที่มีการใช้คำบอกเล่าที่เข้าใจได้ดีคือ​ รายละเอียดของพระแท้จะมี”ความนิ่มตา”กว่าชัดเจน”
-รูปแบบและวิธีการสร้างที่ถูกต้องซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน​ เพราะถ้าวิธีการสร้างผิด​ ทุกอย่างที่เหลือตามมาก็จะผิดหมด​ คำว่าพระกดพิมพ์ก็ต้องมีแบบพิมพ์​ รายละเอียดต่างๆต้องเกิดจากการออกแบบของช่างศิลป์​ ความงดงาม, รายละเอียดของพิมพ์คือจุดบ่งชี้ความแท้ปลอมได้ระดับหนึ่ง​ แต่วิธีนี้จะใช้กับกลุ่มคนที่เอาของเลียนแบบมาแอบอ้างว่าเป็นของแท้ไม่ได้​ เพราะว่าไม่มีจุดตัดสินที่แน่นอนเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าของเขาแท้​ จึงไม่มีที่สิ้นสุด​ จึงต้องใช้หลักการของอายุและเรื่องมวลสารมาใช้ประกอบในการตัดสินใจต่อไป
การพิจารณาหาจุดที่ชี้วัดความแท้หรือปลอมของพระเนื้อผงผสมในปัจจุบันนี้​ นับว่ายากมากสำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษาใหม่​ เพราะปัจจุบันมีการทำปลอมออกมาหลายรูปแบบ​และเอาชื่อเสียงและกลุ่มบุคคลมาเป็นตัวชี้วัดมากกว่า​การพิจารณาองค์ประกอบที่องค์พระเป็นหลัก​ ทำให้เกิดความเสียหายมากในปัจจุบันและต่อๆไปอนาคต​ ดังนั้นขอให้ท่านสมาชิกใช้ความรอบคอบด้วยสติและใช้ปัญญาในการศึกษาและพิจารณาด้วยหลัักการอย่างแท้จริง