Select Page

         ถ้าจะกล่าวถึง”พระสมเด็จ” หนึ่งในพระเครื่องของไทยแล้วรับรองได้ว่าแทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก และที่มาของชื่อ”พระสมเด็จ”นั้นก็มาจาก”พระสมเด็จวัดระฆัง” ซึ่งนับว่าเป็นพระเครื่องที่ได้รับความความนิยมมากที่สุดในบรรดาพระเครื่องทั้งหมด​และยังเป็นที่เป็นที่ต้องการของทั้งนักสะสมชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติเช่น0จีน​ สิงคโปร์​ มาเลเซีย​ และชาวตะวันตกบางกลุ่ม ส่วนสาเหตุนั้นเนื่องมาจากความเชื่อในพุทธคุณที่ครอบครุมรอบด้าน​รวมถึงพระสมเด็จแท้ที่นับว่าหาได้ยากยิ่งและราคาการเช่าหาและแลกเปลี่ยนที่สูงมากก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ​ แต่ในบรรดาผู้ที่สนใจในพระสมเด็จทั้งหลายเหล่านั้นจะมีใครทราบบ้างหรือไม่ว่าประวัติและต้นกำเนิดของพระสมเด็จนั้นจริงๆแล้วเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยใดและใครเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรก
         บางท่านที่เริ่มเข้ามาศึกษาพระเครื่องใหม่ๆก็จะคิดว่าพระสมเด็จนั้นเริ่มสร้างในสมัยที่มีการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังในยุคของสมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต​ พรหมรังสี​ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม​ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอายุการสร้างไม่ต่ำกว่า150 ปี แต่บางท่านที่ได้เคยศึกษาพระเครื่องในยุคเก่าย้อนลงไปอีกก็จะพอทราบจากประวัติศาสตร์ว่ามีพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือพิมพ์พระสมเด็จที่มีการสร้างมาก่อนหน้านั้นแล้วคือ”พระสมเด็จอรหัง​” ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช​ญานสังวร(พระสังฆราชสุก​ ไก่เถื่อน)​ แห่งวัดราชสิทธารามหรือวัดพลับฝั่งธนบุรี​ แต่ถ้าจะให้สืบค้นย้อนหลังที่เก่ากว่ายุคสมเด็จอรหังลงไปอีกก็ยังไม่เคยมีข้อมูลจากประวัติศาสตร์หรือบันทึกเรื่องราวใดๆไม่ว่าโดยทางราชการหรือข้อมูลจากบุคคลใดๆก็ตามที่มีการกล่าวถึงพิมพ์พระสมเด็จไว้แต่ประการใดจนมาถึงยุคปัจจุบันนี้
         แต่นับเนื่องจากที่ผมได้เริ่มเข้ามาศึกษาพระเครื่องครั้งแรกในปีพ.ศ.2546​ ในหมวด”พระกรุนาดูน” และที่ได้ศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้จัดพิมพ์หนังสือ”คัมภีร์ไขปริศนาพระกรุนาดูน” ในปีพ.ศ.2559​ ผมก็ยังไม่เคยพบเจอพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักที่คล้ายกับพระพิมพ์สมเด็จจากที่ใดเลยยกเว้นจาก”พระพิมพ์กรุนาดูน” แห่งเดียวเท่านั้น​ ซึ่งในตอนแรกที่ผมได้พบเห็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักของกรุนาดูนเมื่อกว่า17ปีก่อนนั้น​ ผมยังไม่เคยศึกษาพระเครื่องหมวดอื่นๆเลยเพียงแต่รู้จักพระสมเด็จวัดระฆังและสมเด็จบางขุนพรหมเพียงผิวเผินเท่านั้น​ ผมจึงยังไม่สามารถที่จะนำเสนอข้อมูลเรื่องพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก​หรือ” พระหัวแหลม”ที่เป็นชื่อเรียกตามรูปลักษณ์ที่ผู้อาวุโสที่เป็นผู้ขุดพบใช้เรียกในขณะนั้นซึ่งหมายถึง”พระสมเด็จกรุนาดูน” ดังนั้นการที่จะนำเสนอให้ข้อมูลใดๆในเวลานั้นคงจะไม่มีใครยอมรับและเป็นที่น่าเชื่อถืออย่างแน่นอน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้เวลาผ่านมากว่า17 ปีที่ผมได้ทำการศึกษาพระเครื่องแทบทุกหมวดหมู่มาอย่างต่อเนื่องทั้งจากหนังสือ​,ตำราทางวิชาการ​ จากการเข้าร่วมสังเกตการในกลุ่มและชมรมต่างๆ​และจากการศึกษาจากพระเครื่องของจริงซึ่งได้แก่หมวดพระพิมพ์หมวดสมเด็จทั้งหมด​ พระกรุเนื้อดิน​ ชิน​ ว่าน​ พระเครื่องชนิดเหรียญทั้งหมดทั้งเหรียญหล่อโราณ เหรียญปั๊มยุคต่างๆ​ หมวดพระพุทธรูป​ หมวดเทวรูปโบราณต่างๆและหมวดเครื่องรางของขลัง​ ซึ่งผมได้เก็บสะสมรวบรวมไว้ทั้งหมดจำนวนหลายหมื่นชิ้น​ และการที่ผมได้ผ่านการเรียนการศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สอนและฝึกฝนงให้ต้องมีการสังเกตและศึกษาสิ่งต่างๆนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล​ จึงมีการการนำความรู้เหล่านั้นมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล อีกทั้งการที่ได้มีโอกาสศึกษาพระเครื่องหมวดต่างๆจากของจริงและจากผู้รู้หลายๆท่านทำให้ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า​ข้อมูลต่างๆที่ผมจะนำเสนอเรื่องพระพิมพ์พระสมเด็จนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์พระเครื่องของไทยบ้างไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ”พระสมเด็จ” ที่ว่า”พระพิมพ์สมเด็จกรุนาดูน” กับ”พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่มีพุทธศิลป์ที่คล้ายกันมากนั้นจะมีที่มาและความสัมพันธ์กันหรือไม่มากน้อยเพียงใด
         ก่อนอื่นนั้นควรจะต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อนว่าพระเครื่องที่เราเรียกกันว่า”พระสมเด็จ”นั้นเป็นพระพิมพ์คือการสร้างนั้นจะต้องมีแบบแม่พิมพ์ก่อนแล้วจึงจะนำมวลสารมากดลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้จึงจะได้เป็นพระพิมพ์สมเด็จที่เราได้เห็นและบูชากันอยู่ในขณะนี้​ และก่อนที่จะมีแบบพิมพ์นั้นก็จะต้องมีคนสร้างแบบพิมพ์ขึ้นมาก่อนในเบื้องต้นซึ่งก็คือช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความสามารถทางศิลปะทั้งที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนมาก่อนหรืออย่างน้อยต้องเคยฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเสียก่อน​จึงจะสามารถสร้างแบบพิมพ์ขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าใครคิดจะสร้างก็ได้​ ซึ่งถ้าเข้าใจจุดนี้แล้วก็จะทำให้พอมองภาพรวมในรายละเอียดถึงที่มาและต้นกำเนิดของพระพิมพ์สมเด็จที่จะได้นำเสนอต่อไปได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น
         พระพิมพ์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศอินเดียโบราณราวพ.ศ.600 -​800 ในสมัยคันธาระ(พระเจ้ากนิษกะ)​ แม้ว่าจะมีการสร้างศิลปะวัตถุมาก่อนหน้านั้นเช่นสกุลศิลปะเมารยะ(Maurya)​แต่สมัยนั้นก็ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป​หรือพระพิมพ์ การสร้างพระพิมพ์ที่อินเดียโบราณนั้นมีการสร้างกันมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัยจนถึงยุคสุดท้ายก่อนที่จะล่มสลายคือยุคของวิชัยนคร​ ราวพ.ศ.1893-2108​ พระพิมพ์โบราณในแต่ละยุคนั้นจะมีการเรียนการสอนเปิดเป็นสำนักต่างๆมากมายและเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้นเพราะว่าผู้ที่สร้างส่วนใหญ่ก็จะเป็นพระสงฆ์​ จากนั้นก็ได้มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากอินเดียโบราณมายังสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่องมาถึง3คลื่นด้วยกันและขณะเดียวกันก็ได้มีการนำเอาต้นแบบและแนวคิดของการสร้างพระพิมพ์มาเผยแพร่ควบคู่กันไปด้วย​ ที่อำเภอนาดูนหรือนครจำปาศรีที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีตก็ได้รับอิทธิพลของศิลปะการสร้างพระพิมพ์นี้มาด้วยเช่นกัน​ ดังจะเห็นได้จากประวัติการขุดพบศิลปะวัตถุต่างๆมากมายโดยกรมศิลปากรซึ่งมีตั้งแต่ยุคสมัยของพระเจ้าอโศกคือสถูปแบบโบราณเป็นต้นมา(รูปภาพด้านล่าง)​ จนถึงยุคของการสร้างพระพิมพ์แบบต่างๆตั้งแต่ยุคต้นไล่เรียงมาจนครั้งสุดท้ายคือสมัยปาละ​-เสนา​ ดังจะเห็นได้ว่าพระพิมพ์ต่างๆที่ขุดพบที่กรุนาดูนนั้นจะมีรูปแบบของศิลปะตั้งแต่ยุคต้นจนมาถึงยุคกลางมากมายและศิลปะต่างๆที่พบเห็นยังคงรายละเอียดของพุทธศิลป์แบบอินเดียโบราณไว้​ ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่เก่าที่สุดกว่า1พันปี
         จากตำราและข้อมูลการสร้างและตัวอย่างพระพิมพ์ของอินเดียโบราณนั้น​อ.จิตร​ บัวบุศย์ อดีตศิลปินแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านพระพิมพ์ของเมืองไทย​ ท่านได้จัดพิมพ์เป็นตำราไว้ให้ศึกษาโดยละเอียดว่ารูปแบบและรายละเอียดของพระพิมพ์ในแต่ละยุคนั้นเป็นอย่างไร​ สามารถนำมาเทียบเคียงได้กับยุคสมัยใดของไทย​ ซึ่งเมื่อทราบยุคสมัยแล้วก็จะทำให้เราสามารถทราบอายุอย่างคร่าวๆของพระพิมพ์นั้นได้​ และจากข้อมูลในตำรานี้เองเราจึงสามารถนำแบบพิมพ์ของอินเดียโบราณที่เป็นสี่เหลี่ยมชิ้นฟักดั้งเดิมมาเทียบเคียงกับพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางสมาธิของกรุนาดูนก็จะสามารถทราบอายุคร่าวๆของพระพิมพ์ของกรุนาดูนได้ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางของพุทธศิลป์ของพระพิมพ์ของอินเดียโบราณตั้งแต่ยุคต้นจนมีพัฒนาการมาถึงพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ” พิมพ์พระสมเด็จ” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

วิวัฒนาการของพระพิมพ์โบราณก่อนที่จะมาเป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือพระสมเด็จ

รูปแบบการสร้างพระพิมพ์ที่ได้ศึกษาจากหนังสือของอ.จิตร​ บัวบุศย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพิมพ์ที่มีความรู้ความชำนาญที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย​นั้น ท่านได้นำรูปภาพพระพิมพ์ต่างๆที่ถ่ายจากองค์จริงเพื่อนำมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและนำมาเปรียบเทียบทั้งรายละเอียดพิมพ์และยุคสมัยของอินเดียโบราณว่าตรงกับยุคสมัยใดของสุวรรณภูมิและของประเทศไทยในอดีต ทำให้เราสามารถมองภาพของวิวัฒนาการของพระพิมพ์ได้อย่างกระจ่างชัดมากที่สุด​ ซึ่งผมจะขอนำเฉพาะในส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวกับหัวข้อที่กำลังศึกษาอยู่มาอธิบายเท่านั้น

รูปที่1.​ เป็นพระพิมพ์ในยุคแรกสมัยคันธาระ​ จากภาพจะพบว่าเป็นแบบพิมพ์ลอยองค์ซึ่งจะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่บนฐานเตี้ยชั้นเดียว​ และองค์พระประธานจะมีประภามณฑล​รอบเศียร

รูปที่2.​เป็นยุคสมัยของคุปตะ​ ที่เป็นยุคหลังถัดลงมาซึ่งพบว่ายังคงเป็นพระพิมพ์ที่เป็นพระพุทธรูปประทับยืนอยู่บนฐานชั้นเดียวมีประภามณฑลรอบพระเศียร​ และแบบพิมพ์เริ่มมีรูปทรงสี่เหลี่ยมทรงสูงปลายขอบแม่พิมพ์ด้านบนโค้งและเริ่มพบแบบพิมพ์สี่เหลี่ยมทรงเตี้ยแต่มุมที้ง4ยังไม่เป็นเหลี่ยมุมชัดเจน​ และในยุคนี้จะพบว่ายังไม่มีเส้นซุ้มครอบแก้ว
รูปที่3.​ ​เป็นยุคของปาณทยะ-โจฬะ​ เป็นยุคพระพิมพ์ที่เริ่มมีเส้นซุ้มครอบแก้วรอบองค์พระให้เห็นเป็นยุคแรกและเริ่มมีรูปแบบที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสูงมากกว่าความกว้างหรือที่เรียกว่าพิมพ์”สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก” ขึ้นเป็นครั้งแรก (รูปในวงกลมสีแดง)​

           จากภาพด้านบน(รูปที่3)​นั้นจะเห็นว่ารายละเอียดของพระพิมพ์ในสมัยปาณทยะ-โจฬะ​ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขัยของไทยนั้น​ พระพิมพ์จะเริ่มมีรายละเอียดพิมพ์ที่คล้ายคลึงกับพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือพระสมเด็จ​ในยุคปัจจุบันให้ได้พบเห็นเป็นยุคแรก คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟักรายละเอียดภายในมีพระประธานประทับนั่งสมาธิบนฐานและมีเส้นซุ้มครอบแก้วทรงระฆังคว่ำอย่างชัดเจน​ ซึ่งถ้าเทียบยุคสมัยปาณฑยะ-โจฬะ​ หรือตรงกับสมัยสุโขทัย​เราก็จะสามารถเทียบเคียงหาอายุพระพิมพ์ที่สร้างได้ว่าน่าจะประมาณพ.ศ.1400-1900(ปาณทยะ-โจฬะ)แพร่เข้ามาประเทศไทยเมื่อพ.ศ.1792-1981(สมัยสุโขทัย)คือเมื่อประมาณ500-700ปีก่อน​โดยประมาณซึ่งอยู่ในช่วงอาณาจกรนครจำปาศรียังเจริญรุ่งเรืองอยู่ ซึ่งหมายความว่าพระพิมพ์สมาธิสี่เหลี่ยมชิ้นฟักในซุ้มครอบแก้วนี้มีความเก่าแก่มากและถือว่าน่าจะเป็นต้นแบบของพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักที่ช่างศิลป์ในยุคหลังๆได้นำมาสร้างเป็นพระสมเด็จที่เรารู้จักกันในยุคปัจจุบันนี้

           จากการที่ได้ขอความรู้และความคิดเห็นจากศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งที่ผมได้นำพระพิมพ์สมาธิสี่เหลี่ยมชิ้นฟักกรุนาดูนองค์จริงไปปรึกษากับท่าน​ เมื่อท่านได้เห็นศิลปะ​รายละเอียดต่างๆ​รวมถึงความเก่าแก่ของเนื้อดินเผา​และข้อมูลต่างๆในหนังสือพระกรุนาดูนที่ผมได้จัดพิมพ์แล้ว ท่านได้อธิบายและให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าศิลปินในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมานั้น​ จะศึกษาวิชาศิลปะจากตำราที่มีต้นแบบมาจากศิลปินรุ่นเก่าๆที่ถูกถ่ายทอดต่อๆกันมารุ่นสู่รุ่น​เป็นส่วนใหญ่ โดยช่างศิลป์ส่วนหนึ่งอาจจะมีการนำมาดัดแปลงในรายละเอียดบ้างตามความคิดของแต่ละท่านแต่ส่วนใหญ่แล้วจะคงรูปแบบเดิมไว้

         ท่านให้ความเห็นเรื่องพระพิมพ์สมาธิสี่เหลี่ยมชิ้นฟักเนื้อดินเผากรุนาดูนหรือพระสมเด็จกรุนาดูนว่าเก่าแก่มากจากการพิจารณาของท่าน​และท่านเชื่อว่าพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักนี้ก็น่าจะถูกถ่ายทอดรูปแบบศิลปะต่อๆกันมายังศิลปินรุ่นหลังที่มีความสนใจ​ และช่างศิลป์ที่ได้เคยศึกษารูปแบบการสร้างพระพิมพ์ในอดีตย่อมต้องเคยเห็นและรู้จักแบบพิมพ์นี้มาบ้างเพราะอยู่ในช่วงยุคสมัยสุโขทัย​ จึงมีความเป็นไปได้มากที่ศิลปะพระพิมพ์เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดมาสู่รุ่นหลังต่อมายังช่างศิลป์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์และทำให้ช่างที่ออกแบบพิมพ์พระสมเด็จในยุคเจ้าประคุณสมเด็จโต​ น่าจะนำรูปแบบศิลปะแบบพิมพ์โบราณนี้มาออกแบบถวายท่านก่อนจนเป็นที่มาของพระพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังที่เราได้รู้จักกันถึงทุกวันนี้​ เพราะว่าจากประวัติการสร้างพระพิมพ์ขององค์สมเด็จโตนั้น​ ท่านได้สร้างพระพิมพ์ไว้หลากหลายพิมพ์มากไม่ว่าจะเป็น​พระรอด​ พระซุ้มกอ​ ฯลฯซึ่งล้วนแต่เป็นพระพิมพ์ที่เคยถูกสร้างมาก่อนแล้วในสมัยก่อนทั้งสิ้น​ ซึ่งท่านน่าจะเคยได้พบเห็นแบบพิมพ์เหล่านั้นขณะที่ออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือ​หรือเกิดจากช่างศิลป์ได้ออกแบบถวายท่าน ส่วนพระพิมพ์พระสมเด็จนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ว่าแบบพิมพ์นั้นมาจากที่ใดและใครเป็นผู้คิดขึ้นมา​ ซึ่งจากการที่ผมได้ปรึกษาและสอบถามข้อมูลจากอาจารย์ไพศาล​ มุสิกะโปดก​ ซึ่งถือว่าท่านเป็นผู้ที่ศึกษาประว้ติศาสตร์และชีวประวัติรวมถึงการสร้างพระสมเด็จวัดระ​ฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต​ พรหมรังสี​ มาโดยละเอียดเป็นเวลาหลายปีและนับว่าเป็นผู้ที่มีความรอบรู้​ เชี่ยวชาญ​ และแตกฉ​านท่านหนึ่งและท่านยังเป็นผู้ร่วมขก่อตั้งหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับการศึกษาพระสมเด็จให้กับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน​ กระทรวงศึกษา​ และเปิดอบรมแก่ผู้ที่สนใจมาแล้วมากมายหลายรุ่น​ ท่านให้แนวคิดที่น่าสนใจมากว่า​ ” เมื่อท่านได้เห็นพระพิมพ์สมเด็จของกรุนาดูนครั้งแรกนั้นสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างเด่นชัดมาก็คือความเก่าและความแกร่งมาก​ ส่วนรูปแบบพระพิมพ์นั้นมีความคล้ายกับพิมพ์ของพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังอย่างเห็นได้ชัด​และน่าจะเป็นต้นแบบที่ช่างยุคหลังได้นำมาสร้าง” และท่านยังให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า” จากประวัติการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต​ นั้นในยุคแรกๆท่านได้ให้ช่างอู่ต่อเรือเป็นผู้ออกแบบถวายก่อนแล้วจึงนำแบบพิมพ์นั้นมาทำการสร้างพระพิมพ์สมเด็จพิมพ์อกครุฑเศียรบาตรเป็นพิมพ์แรกๆในเวลาต่อมา”​ จากจุดนี้จึงเชื่อมโยงกันกับข้อมูลที่ท่านศิลปินแห่งชาติที่ได้เคยให้ข้อมูลไว้ในตอนต้น​ จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้น่าจะอนุมาณในเบื้องต้นว่าช่างศิลป์ที่อู่ต่อเรือนี้น่าจะเคยศึกษาและเห็นรูปแบบของพระพิมพ์โบราณต่างๆในอดีตมาก่อนหน้า​แล้ว จึงได้นำพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางประทับนั่งสมาธิบนฐาน3ชั้นในซุ้มเส้นหวายทรงระฆังคว่ำนี้มาออกแบบถวายท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต​ รวมถึงพิมพ์อื่นๆเช่นพิมพ์พระซุ้มกอ​ พระรอด​ ฯลฯเพราะจากภาพประวัติพระพิมพ์ของท่านอาจารย์​ จิตร​ นั้นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก​และพิมพ์ซุ้มกอนั้น​จัดอยู่ในยุคเดียวกัน(ตามภาพรูปที่3)​ด้านบน

       ภาพด้านบนนี้เป็นภาพพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก​ที่มีความสูงมากกว่าความกว้างมีรายละเอียดพิมพ์เป็นพระพุทธรูปที่มีพระเกศเรียวแหลมสูงปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน3ชั้นอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงระฆังคว่ำหรือที่เรียกกันว่า “พิมพ์พระศาสดา” หรือ”พิมพ์พระสมเด็จกรุนาดูน” ที่เป็นยุคแรกของพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก​ของกรุนาดูน ซึ่งวิวัฒนาการและที่มาของรายละเอียดพิมพ์ต่างๆก่อนที่จะมาเป็นพิมพ์รูปแบบที่เห็นนี้นั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่มาของฐานทั้ง3ชั้นจะได้อธิบายให้ทราบในรายละเอียดต่อไป

ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของฐานที่ประทับ3ชั้นของพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักกรุนาดูน

         จากประวัติพระพิมพ์ของท่านอาจารย์​ จิตร​ บัวบุศย์ จะพบว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระกรุนาดูนในยุคต้นนั้นจะคล้ายกันคือการออกแบบฐานของพระพิมพ์นั้นจะเริ่มจากฐานชั้นเดียว​ในปางประทับยืนซึ่งเป็นฐานบัว(ตามภาพด้านล่าง)​ ในรูปแบบพิมพ์ที่เป็นสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก

ส่วนในปางประทับนั่งในยุคต้นของกรุนาดูนนั้นรูปแบบพิมพ์ก็จะเป็นแบบสี่เหลี่ยมชิ้นฟักเช่นเดียวกันส่วนการออกแบบฐานก็จะเป็นบัลลังก์​ ยังไม่พบเห็นที่เป็นฐานที่แบ่งเป็นชั้นๆ(ตามภาพรูปด้านล่าง)​

ในยุคถัดมาเริ่มมีการออกแบบให้มีฐานหลายชั้นมากขึ้นโดยที่ฐานแต่ละชั้นยังไม่แบ่งแยกออกเป็นชั้นอย่างชัดเจนและฐานที่เริ่มให้เห็นเป็นชั้นนั้นเกิดจากขนดลำตัวของพญานาคก่อน(ตามภาพด้านล่าง)​
จากนั้นจึงเริ่มวิวัฒนาการแบ่งเป็นฐานเตี้ยๆแบบ3ชั้นให้เห็นชัดเจนมากขึ้นตามภาพด้านล่าง
จากนั้นจึงเริ่มแบ่งเป็นฐาน3ชั้นทรงสูงโดยแบ่งเป็นชั้นให้เห็นชัดเจนมากขึ้นทั้งที่เป็นรูปแบบพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักและแบบลอยองค์​ (ตามภาพด้านล่าง)​

           จากภาพที่นำมาแสดงด้านบนทั้งหมดจะเห็นได้ว่าในยุคเริ่มต้นของพระพิมพ์กรุนาดูนนั้นการออกแบบฐานที่ประทับนั้นจะเริ่มจากเป็นฐานชั้นเดียวหรือเป็นบัลลังก์​ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาเริ่มมีฐานหลายชั้นโดนชั้นต่างๆของฐานนั้นเริ่มเกิดจากขนดลำตัวของพญานาคก่อน​ โดยเริ่มจากฐานหลายชั้นที่ยังไม่แบ่งเป็นชั้นให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วจึงพัฒนาเป็นชั้นแบ่งแยกชั้นให้ชัดเจนมากขึ้นแต่จำนวนชั้นก็จะมีไม่มากกว่า3ชั้นในทุกๆแบบพิมพ์​ จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ​ ท่านอธิบายว่าถ้ามองในด้านของศิลปะน่าจะเพราะความลงตัวและสวยงามสมส่วนในองค์ประกอบของพิมพ์​ แต่จะมีนัยทางคติของศานาแอบแฝงเพิ่มเติมหรือไม่ก็ยากที่คาดคะเนได้

         เมื่อเราทราบวิวัฒนาการของฐานที่ประทับเรียบร้อยแล้ว ลองมาพิจารณาเฉพาะเจาะจงลงไปที่พระพิมพ์สมเด็จหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางนั่งสมาธิบนฐาน3ชั้นอยู่ในเส้นซุ้มครอบแก้วของกรุนาดูนในยุคต่างๆโดยละเอียด​ โดยเริ่มต้นจากพระพิมพ์สมเด็จกรุนาดูนองค์แรก(รูปที่8)​และอีก4องค์ที่ได้นำมาศึกษาในภายหลัง(รูปที่8.1)​ จะพบว่าในตอนแรกนั้นองค์พระพิมพ์ทั้งหมดที่ถูกขุดพบนั้นถูกหุ้มด้วยไขสัตว์โบราณจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดใดๆในองค์พระ จากนั้นจึงได้เริ่มนำไขที่หุ้มไว้ออกโดยการใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ขูดออกที่ละน้อยจนถึงเนื้อพระ​ ในขณะที่ใช้เข็มขูดนั้นเนื้อพระนั้นยังคงสภาพเดิมไม่สึกกร่อนและรายละเอียดต่างๆยังคงชัดเจนให้เห็นตามรูปภาพที่ปรากฏ เพราะเนื่องจากคุณสมบัติที่สำคัญประการแรกของพระกรุนาดูนแท้ๆนั้นสภาพของเนื้อดินเผาจะแกร่งมากจนสภาพของเนื้อดินนั้นมีลักษณะแข็งและแกร่งมากคล้ายกับเนื้อหิน​ ภาพต่อมาจะพบว่าเมื่อนำไขออกจนหมดแล้วก็จะ​พบว่า​ในรายละเอียดของพิมพ์นั้น​ฐานทั้ง3ชั้นจะมีลักษณะคล้ายขนดลำตัวของพญานาค(รูปที่9)​เพราะจากภาพจะเห็นว่าบริเวณที่เป็นฐานทั้ง3ชั้นนั้น​จะไม่เรียบเป็นเส้นตรงแต่จะเป็นเส้นริ้วเล็กๆคล้ายกับลำตัวของพญานาค​และที่ฐานชั้นล่างสุดทั้ง2ด้านจะเห็นเส้นกลมใหญ่คล้ายลำตัวพญานาคพันรอบเส้นซุ้มครอบแก้วทั้ง2ด้านจากด้านล่างขึ้นไปบริเวณด้านบนจนถึงด้านข้างของเศียรพระประธานที่ประทับนั่งอยู่​และที่ผนังคูหาทั้ง2ข้างของเศียรพระประธานก็เห็นเป็นลักษณะคล้ายเศียรของพญานาคปรากฏให้อยู่​ แต่ในยุคต่อมารายละเอียดของพิมพ์ในส่วนที่เป็นฐานที่เกิดจากลำตัวพญานาคและเส้นลำตัวที่พันรอบเส้นซุ้มครอบแก้วและส่วนที่คล้ายกับเศียรนาคที่ผนังคูหานั้นจะไม่มีปรากฏให้เห็นอีก​ จะพบเห็นเป็นเพียงพระประธานปางสมาธิประทับนั่งบนฐานเรียบตรง3ชั้นในซุ้มเส้นหวายทรงระฆังคว่ำเท่านั้น(รูปที่9)

รูปที่8
รูปที่8.1
รูปที่​ 9

       จากรูปที่​ 9​ รูปองค์พระสมเด็จองค์เดี่ยวที่อยู่ด้านบนสุดนั้นจะปรากฏให้เห็นฐานที่เป็นขนดลำตัวและส่วนของลำตัวที่พันรอบเส้นซุ้มทั้ง2ด้านขึ้นไปด้านบนและส่วนของเศียรพญานาคที่ปรากฏอยู่ที่พื้นผนังคูหาด้านข้างเศียรพระประธานทั้ง2ด้าน​ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพพระสมเด็จอีก3องค์ด้านล่างจะไม่มีปรากฏรายละเอียดของนาคให้เห็นอีกในพระสมเด็จในรุ่นต่อๆมาทั้ง3แบบ

      จากข้อมูลเหล่านี้น่าจะสรุป0ได้ว่าฐานที่ประทับในพระพิมพ์สมเด็จนั้นในเบื้องต้นน่าจะเกิดจากขนดลำตัวของนาคก่อนแล้วจึงค่อยๆปรับเปลี่ยนไปเหลือเพียงฐานเรียบ3ชั้นแบบธรรมดาเหมือนกับที่เราได้พบเห็นในพระพิมพ์สมเด็จในปัจจุบันนี้

ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการการสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก(พระสมเด็จ)​

จากภาพด้าน​บนจะเห็นว่าพระสมเด็จกรุนาดูนในยุค​แรกนั้นลักษณะของฐานทั้ง3ชั้นจะไม่เรียบตรงเหมือนฐานพระสมเด็จในยุคปัจจุบัน​ แต่จะมีลักษณะขอบของฐานเป็นริ้วคล้ายลำตัวพญานาค(ลูกศรชี้)​ และด้านข้างของฐานชั้นล่างทั้ง2ด้านจะมีลักษณะคล้ายเส้นกลมๆคล้ายลำตัวของพญานาคพันรอบเส้นซุ้มขึ้นไปด้านบนจนถึงเศียร​ และที่ผนังคูหารอบๆเศียรพระประธานจะพบลักษณะคล้าเศียรของนาค​ ในจุดนี้ทำให้สัณนิษฐานได้ว่าฐานของพระประธานในพิมพ์สมาธิหรือพระสมเด็จนั้นในเบื้องต้นช่างที่สร้างน่าจะเจตนาให้เป็นขนดลำตัวของพญานาคที่รองรับพระพุทธเจ้าขณะเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่6หลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้ต้นมุจลินท์(ต้นจิก)​ หลังจากนั้นมาช่างรุ่นหลังๆที่มีการสร้างกันต่อๆกันมามิได้ใส่รายละเอียดของฐานและลำตัวนาคที่พันอยู่ที่เส้นซุ้ม​จึงมีเพียงพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้น​ มีพระประธานประทับนั่งสมาธิบนฐานเรียบ3ชั้นอยู่ภายในซุ้มครอบแก้วทรงระฆังคว่ำ​เท่านั้น​ ดังที่แสดงให้เห็นในรูปภาพต่างๆด้านล่าง

ในการสร้างพระพิมพ์กรุนาดูนพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักนี้จากประวัติที่มีการขุดพบที่ผมได้เก็บรวบรวมจากผู้อาวุโสโดยตรงนั้นมีหลายยุค​ หลายพิมพ์ หลายเนื้อและหลายขนาดด้วยกันซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและความหลากหลายในการสร้างที่ถูกส่งต่อกันมากว่า1000ปีก่อนที่อาณาจักรนครจำปาศรีโบราณจะล่มสลายในประมาณปีพ.ศ.1900 ซึ่งแบบพิมพ์ต่างๆล้วนมีความหลากหลายตามสภาพกรุที่เก็บและยุคสมัยที่สร้างซึ่งเป็นธรรมชาติของพระกรุแท้​ ไม่ใช่พระโรงงานที่จะมีแบบพิมพ์เดียวและสภาพคราบกรุต่างๆก็จะเหมือนกันหมดตามภาพด้านล่าง​

        บทสรุปสุดท้ายที่ของวิวัฒนาการและการสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางสมาธิบนฐาน3ชั้นในเส้นซุ้มครอบแก้วทรงระฆังคว่ำหรือที่เรียกกันว่า”พิมพ์พระศาสดา” หรือ”พิมพ์พระสมเด็จ” ที่กระชับและเข้าใจได้ง่าย​ มีดังนี้
1.พระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางสมาธินี้เป็นพระพิมพ์ที่มีประวัติการสร้างมาแล้วตั้งแต่ยุคปาณทยะ-โจฬะ​ ของอินเดียโบราณหรือประมาณพ.ศ.1400-1900(อ้างอิงจากตำราของอ.จิตร​ บัวบุศย์)​
2.พระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางสมาธินี้ได้มีการสร้างและถูกขุดพบที่กรุนาดูน​ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอ นาดูน​ จังหวัด​ มหาสาร​ในปัจจุบัน​หรือนครจำปาศรีในอดีต​ โดยในขณะนี้ท่านผู้อาวุโสที่เป็นผู้ขุดพบยังมีชีวิตอยู่ซึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์และข้อมูลต่างๆด้วยตัวเองกับข้าพเจ้ามาแล้วนับ10ครั้ง​ พร้อมทั้งได้พาข้าพเจ้าเข้าไปยังพื้นที่ที่ขุดพบมาแล้วหลายครั้ง​ โดยท่านผู้อาวุโสยังได้เรียกชื่อพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักปางสมาธินี้ว่า”พระหัวแหลม” ทุกครั้งมาตลอดที่ให้ข้อมูลเพราะท่านไม่เคยรู้จักพระสมเด็จมาก่อน
3.การพิสูจน์ทราบอายุของพระกรุนาดูนที่ได้มีการขุดพบนี้ได้มีการตรวจสอบอายุโดยวิธิทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าTheremoluminescence Dating แล้วเมื่อหลายปีก่อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีอายุกว่า1300ปีและที่ผมได้นำเครื่องปั้นดินเผากรุนาดูนไปหาอายุเพื่อเทียบเคียงกับอายุพระกรุนาดูนได้ที่1700ปี​ ทำให้พอประเมินอายุคร่าวๆของพระสมเด็จกรุนาดูนได้ว่าถูกสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่าหลายร้อยปี​ซึ่งเมื่อนำมาเทียบเคียงพุทธศิลป์ตามตำราของอาจารย์​ จิตร​ บัวบุศย์​ ก็จะตรงกับ”ยุคสมัยสุโขทัย”นั่นเอง
4.ฐานที่เป็นที่ประทับของพระพิมพ์โบราณที่แบ่งเป็นชั้นๆนั้นสัณนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกจากขนดลำตัวของพญานาคในพิมพ์นาคปรกโบราณของฝ่ายอินเดียใต้ที่ค่อยๆพัฒนาจากฐานเตี้ยๆไม่แบ่งเป็นชั้นแบบชัดเจนมาเป็นฐานที่สูงขึ้นและเริ่มแบ่งชั้นอย่างชัดเจนเป็น3ชั้นที่พบเห็นในพิมพ์แบบลอยองค์
5.จากนั้นมีการพัฒนาจากพิมพ์ลอยองค์ที่มีฐาน3ชั้นมาเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหลากหลายพิมพ์และหนึ่งในนั้นเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักที่มีรายละเอียดพิมพ์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานนาคปรก3ชั้น​มีลำตัวนาคพันเส้นซุ้มทั้งข้างและมีเศียรของนาคที่ผนังคูหาอยู่ในซุ้มเรือนแก้วรูปทรงระฆังคว่ำ​ในเบื้องต้นก่อน
6.ต่อมามีการพัฒนาของฐานทั้ง3ชั้นของพิมพ์พระสมเด็จจากขนดลำตัวของพญานาคของพิมพ์นาคปรกมาเป็นฐานเรียบ3ชั้นโดยไม่มีส่วนที่เป็นขนดลำตัวและเศียรพญานาคให้พบเห็นอีกจนถึงในยุคหลังๆต่อมาของกรุนาดูน
7.พระสมเด็จของกรุนาดูนนั้นมีทั้งพิมพ์ที่ไม่มีเส้นซุ้มครอบแก้วที่ขอบพิมพ์ด้านล่างซึ่งรายละเอียดองค์พระประธานและฐานจะเป็นแบบยุคเก่าซึ่งจะมีความงดงามและอ่อนช้อยน้อยกว่าในพระพิมพ์ยุคหลังๆที่มีเส้นซุ้มครอบแก้วด้านล่างตามภาพด้านล่าง

ภาพด้านล่างเป็นการเปรียบเทียบพระกรุนาดูนที่ไม่มีเส้นซุ้มครอบแก้วด้านล่างกับพิมพ์อกครุฑเศียรบาตรที่สร้างสมัยองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต
​ภาพด้านล่างเป็นการเปรียบเทียบพระสมเด็จกรุนาดูนที่มีเส้นซุ้มครอบแก้วด้านล่างกับพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ที่สร้างสมัยองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์​ โต
8.พุทธศิลป์ของพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือที่เข้าใจกันทั่วไปคือพิมพ์พระสมเด็จที่ขุดพบที่กรุนาดูนนี้อาจจะมีการสืบสานต่อเนื่องมายังพุทธศิลปินรุ่นหลังๆ​และแพร่ขยายต่อไปยังสถานที่ใดและเมื่อใดและมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพระสมเด็จวัดระฆังอย่างไรหรือไม่​นั้นข้าพเจ้ายังมีข้อมูลสนับสนุนและไม่อาจที่จะคาดคะเนได้​ ทราบแต่เพียงว่าพุทธศิลป์ของพิมพ์พระสมเด็จนั้นมีการสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกที่กรุนาดูน​ จังหวัดมหาสารคามมาก่อนอย่างแน่นอน

         จากข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าและศึกษามาจากแหล่งต่างๆรวมถึงการที่ได้รวบรวมตัวอย่างพระกรุนาดูนพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักหรือที่เรียกว่า”พิมพ์พระสมเด็จ” ในยุคต่างๆ​ แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ​ทั้งประวัติที่มา​ อายุการสร้าง และพัฒนาการของฐาน3ชั้นของพระพิมพ์สมเด็จนี้ซึ่งบางท่านอาจจะไม่เคยได้พบเห็นข้อมูลที่ได้นำเสนอมานี้จากที่ใดมาก่อน​ ขอให้ท่านผู้อ่านช่วยวิเคราะห์และพิจารณาโดยละเอียดแล้วท่านจึงค่อยมาสรุปสุดท้ายด้วยตัวท่านเองว่า “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักที่ด้านหน้ามีพระพุทธรูปที่มีพระเกศเรียวแหลมสูงประทับนั่งสมาธิบนฐาน3ชั้นอยู่ภายในซุ้มเส้นหวายรูปทรงระฆังคว่ำ​ พิมพ์ด้านหลังเรียบ” หรือที่เรียกกันว่า”พิมพ์พระศาสดา” ของกรุนาดูนหรือที่เรียกกันว่า”พิมพ์พระสมเด็จ” ในยุคปัจจุบันนี้​นั้น​ ได้ถูกสร้างขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อหลายร้อยปีก่อน(สมัยสุโขทัย)​จริงหรือไม่​ และน่าจะเป็นต้นแบบทางพุทธศิลป์สืบต่อเนื่องให้ช่างศิลป์ยุคต่อๆมาได้นำมาสร้างเป็นพิมพ์พระสมเด็จในยุค”พระสมเด็จอรหัง” และ”พระสมเด็จวัดระฆัง” นั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่​มากน้อยเพียงใด

น.พ.ฐิติกร​ พุทธรักษา