Select Page

ขอนำข้อขัดแย้งในเรื่อง “เหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอก” ของการสร้างพระเครื่องชนิด”เหรียญโลหะ” ซึ่งมีการบิดเบือนและเผยแพร่ข้อมูลกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในสื่อโซเชียลและหนังสือพระ

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมาโดยใช้แต่ความเชื่อในตัวบุคคลหรือในกลุ่ม โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผลและการศึกษาเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในเรื่องวิธีการสร้างเหรียญให้เข้าใจเสียก่อน ทำให้เกิดความหลงเชื่อผิดๆและนำไปบอกต่อๆกันด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากถ้าไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเป็นการบิดเบือนตั้งแต่วิธีการสร้างพระนี้น่ากลัวกว่าการแก้ไขพิมพ์หรือการแก้ไขเรื่องวัสดุที่ใช้สร้างเหรียญ ดังนั้นทางเพจจึงขอนำขั้นตอน, วิธีการและหลักการสร้างพระเหรียญชนิด”เลื่อยข้างปั๊มกระบอก” มาให้ท่านสมาชิกได้พิจารณาและศึกษาเรียนรู้โดยละเอียดเพื่อเป็นที่มาของข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ ว่าควรจะเชื่อถือข้อมูลที่เผยแพร่กันอยู่ต่อไปหรือไม่
วิวัฒนาการของการสร้างพระเหรียญในอดีตเริ่มจากประวัติการสร้างคร่าวๆดังนี้
1.เหรียญหล่อโบราณ
2.เหรียญปั๊มเลื่อยข้าง(ข้างเลื่อย)(ราวพ.ศ.2440-2485)
3.เหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอก(ประมาณพ.ศ.2459-2485)
4.เหรียญปั๊มตัดยุคต้น(ประมาณพ.ศ.2486-2499)
5.เหรียญปั๊มตัดยุคใหม่(ประมาณพ.ศ.2500เป็นต้นมา)
จากประวัติของการสร้างพระเครื่องชนิดเหรียญโลหะนี้ จะพบว่าการสร้าง”เหรียญปั๊มข้างเลื่อย” จะเกิดขึ้นก่อนแล้วตามมาด้วย”เหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอก” ในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นานมาก แต่เอกลักษณ์และลักษณะของเหรียญทั้ง 2จะต่างกันโดยสิ้นเชิง และสามารถนำมาคัดแยกของแท้จากของปลอมได้อย่างเด็ดขาด เพราะไม่สามารถทำปลอมแปลงได้เลย จุดนี้เองจึงทำให้ผู้ที่คิดหาประโยชน์อยู่แล้ว ทำการบิดเบือนประวัติการสร้างเสียเลยจะง่ายกว่าที่จะมาแก้ไขที่พิมพ์ เมื่อก่อนอาจจะเลี่ยงโดยเลี่ยมทองหรือเข้าตลับไว้ให้ดูเฉพาะหน้าและหลัง แต่ระยะหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นที่มาของเหรียญ”เลื่อยข้างปั๊มกระบอก” ที่เกิดขึ้นมามากมายหลายเหรียญในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย
วันนี้ทางเพจจึงนำหลักฐานที่จะมาหักล้างแนวคิดนี้ด้วยเหตุและผลที่ไม่สามารถโต้แย้งได้มาให้ท่านสมาชิกได้รับรู้และเก็บเป็นข้อมูลไว้ดังนี้
1.คำว่า “เหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอก” หมายถึง การสร้างเหรียญด้วยวิธีการปั๊มเหมือนเหรียญปั๊มทั่วไปคือต้องมี
-แม่พิมพ์ด้านหน้า
-แม่พิมพ์ด้านหลัง
แต่ที่ต่างออกไปคือ จะต้องมีตัวบังคับแม่พิมพ์ด้านหน้าเหรียญไว้ที่เราเรียกว่า”กระบอก” นั่นเอง ที่มาของคำว่ากระบอกนี้ มาจากลักษณะเป็นรูกลมหรือรีขนาดใหญกว่าเหรียญเล็กน้อยลักษณะรูทรงภายนอกเหมือนรูปเหรียญแต่จะต้องมีความลึกมาก ไม่ต่ำกว่า2-3ซม.เพราะว่าตัวกระบอกนี้จะต้องบรรจุแม่พิมพ์ด้านหน้าเหรียญไว้ด้านล่างกระบอก ซึ่งแม่พิมพ์เหรียญนี้จะต้องมีความหนามากพอสมควรเพราะต้องรองรับการกระแทกอย่างมากเวลาปั๊ม หลังจากนั้นจึงนำแผ่นโลหะที่เลื่อยไว้เรียบร้อยมาวางทับบนแผ่นแม่พิมพ์ที่อยู่ในกระบอกเพื่อรอการปั๊ม(มีภาพประกอบด้านล่าง) จุดนี้เองที่จะทำให้เรารู้ว่าการจะทำตัวแท่นรองรับแม่พิมพ์ที่เจาะและกลึงนี้เองที่เป็นที่มาของคำที่เราเรียกว่า”กระบอก”นั่นเอง ซึ่งการทำนั้นไม่ง่ายและมีข้อจำกัดมากมายคือ
1.การเจาะให้เป็นรูขนาดใหญ่หรือเป็นหลุมลึกลงไปให้เป็นรูปกระบอกลักษณะกลมหรือรีและมีความลึก2-3ซม.ลงในแท่งเหล็กกล้านั้นทำได้ยากมากในยุคนั้น และต้องทำในโรงกลึงเสียก่อนช่างทำเหรียญจะทำตัวกระบอกเองไม่ได้ ซึ่งเราต้องทราบว่าการกลึงนั้น หัวหรือใบมีดของตัวกลึงนั้นเป็นสี่เหลี่ยม เวลาเริ่มต้นเจาะนั้นจะต้องใช้สว่านเจาะนำให้แท่งเหล็กเป็นรูเสียก่อนแล่วจึงค่อยๆใช้หัวเจาะคว้านโดยการหมุนของแท่งเหล็ก(ที่ถูกล็อคไว้โดยตัวเครื่องกลึง)ด้วยความเร็วแล้วใช้หัวเจาะค่อยๆคว้านลึกลงไปทีละนิดจนได้รูปทรงกลมหรือรีและความลึกของหลุมหรือกระบอกตามที่ต้องการ “ขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่า” กระบอก” นี้หมายถึงหลุมที่เจาะลึกลงไปในแท่งเหล็กที่เตรียมมาจะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมหรือแท่งกลมก็ได้
“กระบอก”ไม่ได้หมายถึงแท่งเหล็กทรงกระบอกทั้งแท่งที่นำมาทำตัวบล็อครองรับแม่พิมพ์แต่อย่างใด เพราะบางท่านยังเข้าใจผิดอยู่ ด้วยข้อจำกัดในการกลึงนี้ ทำให้รูปทรงกระบอกนั้นทำได้แค่เพียง”รูปกลม”หรือ”รูปรี” เท่านั้นและยังไม่สามารถเจาะเว้าเพิ่มที่ส่วนบนเพื่อทำเป็นหูเหรียญได้เลยเพราะหูเหรียญมีขนาดเล็กกว่าหัวกลึงหลายเท่าตัว ด้วยสาเหคุนี้เองจึงไม่สามารถที่จะไปกลึงตัวกระบอกให้เป็น”รูปเสมา”, “รูปอาร์ม”หรือ” รูปสี่เหลี่ยม” ได้อย่างแน่นอนในยุคนั้นด้วยความจำกัดของเครื่องกลึง
*******นี่เป็นเหตุผลที่ว่าเหรียญ”เลื่อยข้างปั๊มกระบอก” นั้นจะสร้างได้เฉพาะ”เหรียญกลม” และ”เหรียญรูปไข่(รี)”และต้องเป็นเหรียญที่ต้องไม่มีหูในตัวเท่านั้น******
ขอให้ท่านสมาชิกได้จดจำให้ขึ้นใจ อย่าไปหลงเชื่อในข้อมูลที่ปราศจากเหตุผลตามที่เผยแพร่กันอยู่มากมายในขณะนี้ และขอให้ชมภาพประกอบด้านล่างเพื่อจะได้มองภาพได้เข้าใจได้ดีขึ้น