Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

ขอนำพระเหรียญคณาจารย์ที่หายากมากที่สุดอีกเหรียญหนึ่งของเมืองไทยในกลุ่มพระเบญจภาคีชนิดเหรียญโลหะคือ”เหรียญหลวงปู่ขาว วัดหลักสี่” เป็นเหรียญสภาพเดิม 100%ทั้งรายละเอียดพิมพ์และาภาพผิวที่ไม่ถูกรบกวนเหมาะสำหรับผู้ที่จะเริ่มศึกษาเหรียญเป็นอย่างดี ซึ่งความนิยมและความหายากจะเป็นรองแค่ ล.ป.เอี่ยม วัดหนัง และ ล.ป.ไข่ วัดเชิงเลน เท่านั้น ในสื่อออนไลน์เท่าที่ตรวจสอบยังไม่เคยพบเห็นของแท้แต่อย่างใด
เหรียญนี้จัดสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ.2469 (อายุเหรียญ =95ปี) เป็นการสร้างแบบปั๊มข้างเลื่อยด้วยโลหะทองแดง หลักในการพิจารณา 3ประการตามหลักเกณฑ์มาตรฐานพระเครื่องแท้ที่ผมได้เคยให้ข้อมูลไว้ทุกครั้งมีดังต่อไปนี้
1.ความเก่า ต้องสมกับอายุคือ 95ปี โดยพิจารณาได้จาก
-สนิมของทองแดง ต้องพบเห็นที่ผิวเหรียญเป็นธรรมชาติค่อยๆสะสมหนาตัวขึ้น ตัวสนิมต้องดูกลมกลืนกับเนื้อโลหะ ความหนาบางของสนิมจะไม่เท่ากันสังเกตได้จากสีน้ำตาลอมดำที่เห็น ส่วนสนิมที่เกิดจากการทำให้ดูเก่าจุดนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการพิจารณาไม่เช่นนั้นจะถูกหลอกได้ สนิมทำเก่านั้นสีจะดูเข้มเท่ากันหมดเพราะเกิดจากการทำขึ้นพร้อมกันในครั้งเดียวและสีจะดูฉ่ำและไม่แห้ง ตัวสนิมจะนูนหนาแยกจากเนื้อเหรียญและถ้าใหม่มากอาจมีกลิ่นสารเคมีที่ใช้
-พิจารณาความเก่าได้จากศิลปะ ในยุคนั้นการสร้างจะเป็นแบบนูนต่ำแต่รายละเอียดจะครบถ้วนชัดเจน ถ้าเป็นศิลปะแบบนูนสูงแสดงว่าเป็นของทำใหม่
-พิจารณาความเก่าได้จากความเรียบตึงของผิวเหรียญจากการเวลาที่ยาวนานทำให้โลหะเกิดการหดตัวมากขึ้นกว่าเหรียญใหม่ที่ผิวจะบวม
ความเรียบตึงผิวที่มีมากเกิดจาก -​การเตรียมแผ่นทองแดงมารีดให้เป็นแผ่นบางก่อน
-​การกระแทกด้วยแม่พิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยเครื่องปั๊มแรงดันสูง
-​การหดตัวเมื่อโลหะเย็นลงและเวลาผ่านไปยิ่งนานเท่าไหร่ยิ่งทำให้ผิวหดตัวมากขึ้นเท่านั้น
2.พิมพ์และการสร้าง เหรียญยุคพ.ศ.2469 พิมพ์จะเป็นแบบศิลปะนูนต่ำและการสร้างเป็นแบบปั๊มเมื่อปั๊มเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาเลื่อยที่ขอบข้างเหรียญก็จะได้เหรียญที่เสร็จเรียบร้อย จากนั้นจะนำห่วงเหรียญมาเชื่อมติดเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งมีบางข้อมูลบอกว่าเป็นเหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอกนั้นน่าจะคลาดเคลื่อน เหตุผลที่บอกเช่นนั้นน่าจะต้องการให้การพิจารณาขอบเหรียญที่เป็นขอบเรียบซึ่งง่ายต่อการปลอมแปลง เพราะของแท้ต้องมีรอยเส้นเลื่อยที่ขอบข้างชัดเจนซึ่งปลอมไม่ได้…..
-​ การพิจารณาพิมพ์ที่เป็นศิลปะแบบนูนต่ำนั้นรายละเอียดเส้นสายต่างๆจะนูนกว่าพื้นเหรียญเล็กน้อยเท่านั้นแต่ดูแล้วงดงามและรายละเอียดครบถ้วน นิ่มตาของปลอมจะดูแข็งและเบลอและเส้นสายต่างๆนูนสูงจากพื้นเหรียญมาก
” จุดสำคัญในการพิจารณาพิมพ์นั้นไม่ใช่​แค่การดูตำหนิเหมือนที่ถูกสอนหรือแนะนำกันมาในอดีตเท่านั้น แต่ท่านต้องลงลึกกว่านั้นคือการดูมิติและขนาดของเส้นสายต่างๆไม่ว่าเส้นตัวอักษรหรือลวดลายต่างๆนั้นจะต้องมีมิติคือความสูงต่ำและขนาดเส้นที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากันในเส้นเดียวกัน เพราะเป็นธรรมชาติของการแกะบล็อคขณะออกแบบแม่พิมพ์ ซึ่งน้ำหนักมือของช่างจะไม่เท่ากันเวลาเขียน จะเห็นความพริ้วไหว สะบัดปลายเส้น จุดนี้สำคัญมากและบอกความแท้ปลอมได้เลย ของปลอมขนาดเส้นจะเท่ากันหมด และไม่มีมิติสูงต่ำในเส้นเดียวกัน ทำให้รายละเอียดที่เห็นดูแข็งๆเป็นที่มาของคำว่า”ไม่นิ่มตา” นั่นเอง”
-​ การพิจารณาเหรียญปั๊มจุดสำคัญคือรายละเอียดจะคมชัดเจน, ผิวเหรียญต้องเรียบตึงมากและยิ่งหดตัวตึงมากเมื่อเวลาผ่านไป แต่ของปลอมผิวเหรียญจะไม่เรียบตึงเมื่อขยายผิวจะดูขรุขระ, บวมและรายละเอียดจะเบลอไม่ชััดเจน
-​ พิจารณาขอบข้างเหรียญจะพบเส้นเลื่อยที่ชัดเจนบางจุดจะเห็นเป็นรอยขยักเล็กน้อยจากการเลื่อย(มีภาพประกอบด้านล่าง)​ส่วนในเหรียญปลอมขอบจะเรียบและทำเป็นเส้นให้ดูเหมือนเป็นรอยเลื่อยให้เห็นซึ่งผิดรูปแบบการสร้าง
3.โลหะหรือวัสดุที่สร้าง คือทองแดง การพิจารณาจะพบว่าทองแดงนั้นเป็นทองแดงโบราณมีสนิมที่ผิว สีจะออกน้ำตาลเข้มอมดำเป็นธรรมชาติ แต่ของปลอมสีจะมีทั้งที่สีทองแดงซีดๆหรือแดงอมส้ม โลหะทองแดงจะดูใหม่ฉ่ำและชื้นๆไม่แห้งเหมือนทองแดงเก่า
-​ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการศึกษาพระเครื่องทุกชนิดในเวลานี้คือ ” การไม่มีของแท้จริงๆมาให้ได้ศึกษาและพิจารณา แต่นำของเลียนแบบมาแอบอ้างเป็นของจริง โดยใช้ความมีชื่อเสียงของบุคคลหรือของกลุ่มคนหมู่มาก มาเป็นตัวกำหนด ทำให้การศึกษาเริ่มต้นในครั้งแรกผิดทิศทางจนนำมาสู่ความสับสนและสุดท้ายก็นำมาสู่ความเสียหายเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้….. ซึ่งสาเหตุมาจากสิ่งเดียวคือ”ความโลภ” ของคนเท่านั้นเอง”
ผมหวังว่าเพจและเว็บไซท์นี้จะเป็นจุดเล็กๆที่เริ่มต้นและช่วยให้การศึกษาพระเครื่องได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่จุดเริ่มต้นได้เพื่อจะได้ช่วยแก้ไขความเสียหายที่มีอยู่ให้ลดลงได้บ้าง ขอให้ท่านสมาชิกและผู้ที่ได้เข้ามาชมได้ช่วยกันแชร์และส่งต่อข้อมูลทั้งหมดที่ทางเพจเเละเว็บไซท์ได้เคยลงข้อมูลมาแล้วในอดีตให้กับท่านอื่นๆต่อไปเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะครับ