Select Page

            ในปัจจุบันนี้เหรียญหล่อโบราณนับวันจะยิ่งหาตัวอย่างของแท้มาเป็นองค์ต้นแบบให้ผู้ที่ต้องการศึกษาได้ยากมาก เนื่องจากในอดีตมีการสร้างพระมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเหรียญปั๊มเนื่องจากขั้นตอนการสร้างที่ซับซ้อนและยุ่งยาก​กว่าและนอกจากนั้นยังมีการสร้างของเลียนแบบขึ้นมาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในปัจจุบันนี้
             เช่นเดียวกับการศึกษาพระเครื่องชนิดอื่นๆในการศึกษาพระเหรียญหล่อโบราณนั้นท่านจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างให้เข้าใจเสียก่อนจึงจะทำให้ท่านศึกษาได้รวดเร็วและเข้าใจได้อย่างมีเหตุผล​  ประวัติการสร้างพระเหรียญหล่อโบราณเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่อาจจะทราบได้แน่ชัด​ แต่คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นประมาณในสมัยรัชกาลที่5ที่เริ่มมีการสร้างพระเครื่องเหรียญโลหะชนิดปั๊มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2440​ สำหรับเหรียญหล่อในยุคแรกที่ส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยกันในสมัยนั้นจะมีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากได้แก่หลวงพ่อเงิน​ วัดบางคลาน​ จังหวัดพิจิตร และหลวงพ่อทา​ วัดพะเนียงแตก​ จังหวัดนครปฐม​  สำหรับประวัติเหรียญหล่อของหลวงพ่อทา​ วัดพะเนียงแตกรุ่นแรกนั้นเริ่มมีการสร้างในพ.ศ.2440​ ส่วนเหรียญหล่อของหลวงพ่อเงินนั้นไม่ทราบประวัติแน่ชัดแต่น่าจะใกล้เคียงกันเพราะท่านมรณภาพห่างกันเพียง3ปีคือปีพ.ศ.2459และพ.ศ.2462คือประมาณ100ปีล่วงมาแล้ว​อย่างไรก็ตามก็ถือว่าทั้ง2เหรียญเป็นเหรียญแรกๆของเหรียญหล่อโบราณที่ปัจจุบันหาชมของแท้ได้ยากมาก​ ต่อมาจึงได้มีการสร้างเหรียญหล่อขึ้นมาในระยะหลังต่อเนื่องมาเช่น​ในยุคปีพ.ศ.246..ได้แก่ เหรียญหล่อหลวงพ่อหม่น​ วัดคลองสิบสอง​ จ.ปทุมธานี​ เหรียญหล่อ​หลวงปู่​สุข​ วัดมะขามเฒ่า​ จ.ชันนาท เหรียญหล่อหลวงพ่อศรีสวรรค์​ วัดนครสวรรค์​ จ.นครสวรรค์​ ในปีพ.ศ.247..ได้แก่​ เหรียญหล่อหลวงพ่ออิ่ม​ วัดหัวเขา​ จ.สุพรรณบุรี​ เหรียญหล่อหลวงปู่รอด​ วัดบางน้ำวน​ จ.สมุทรสาคร​ เหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่​ วัดกำแพง​ จ.กรุงเทพมหานคร​ และเหรียญหล่อหลวงปู่บุญ​ วัดกลางบางแก้ว​ จ.นครปฐม เป็นต้น

ขั้นตอนการสร้างเหรียญหล่อโบราณ
– การออกแบบเหรียญหล่อโดยช่างศิลป์ตามความต้องการของผู้สร้างเป็นอันดับแรก
-การแกะพิมพ์ตามแบบที่ร่างไว้โดยการปั้นด้วยขี้ผึ้ง,เทียนหรือดินเหนียว​เป็นองค์ต้นแบบและทำการแก้ไขจนพอใจ​ จะได้เป็น”แกนหุ่น” สำหรับนำไปสร้างตามขั้นตอนต่อไป
-การทำบล็อคแม่พิมพ์โดยการถอดแบบจากแกนหุ่นที่เตรียมไว้ด้วยขี้ผึ้งซึ่งจะได้เป็นบล็อคแม่พิมพ์จำนวนมากเท่าที่ต้องการโดยใช้ต้นแบบเพียงองค์เดียวไม่ต้องไปสร้างอง์ต้นแบบขึ้นมาใหม่
-การนำบล็อคแม่พิมพ์หลายๆบล็อคที่ถอดไว้แล้วมาติดที่ช่อเพื่อทำการหล่อต่อไปแต่ก่อนที่จะติดกับช่อช่างจะต้องนำแต่ละบล็อคมาต่อกับชนวนเสียก่อนเพื่อเป็นช่องให้ขี้ผึ้งหลอมละลายออกมาและให้โลหะหลอมเหลวไหลเข้าบล็อค
-การนำดินนวลมาผสมกับขี้วัวหรือบางวัดจะใช้ขี้นกเขาเป้า​ มาทาพอกทับบล็อคแม่พิมพ์แต่ละอันที่ติดอยู่กับช่อ รอจนดินแห้งสนิทจึงนำดินเหนียวมาทาทับด้านนอกอีกชั้นหนึ่งแล้วรอจนดินเหนียวแห้งและแข็งได้ที่จึงเริ่มขั้้นตอนต่อไป
-การนำช่อที่เตรียมไว้จากขั้นตอนก่อนหน้ามาเผาด้วยไฟ​ เมื่ออุณภูมิร้อนจนได้ที่ขี้ผึ้งที่อยู่ด้านในจะหลอมละลายออกมาทางรูชนวนที่ต่อไว้ทำให้เกิดเป็นช่องว่างอยู่ด้านใน​ จากนั้นจึงนำโลหะหลอมเหลวที่เตรียมไว้มาเทลงในช่องชนวนที่ขี้ผึ้งไหลออกมาเพื่อให้โลหะเหลวเข้าไปแทนที่จนเต็ม​ จากนั้นรอเวลาจนโลหะเหลวที่เทเข้าแม่พิมพ์เย็นลงและแข็งตัวเต็มที่
-การทุบเบ้าดินเหนียวด้านนอกออกไปก็จะได้เหรียญหล่อที่ติดอยู่กับช่อโลหะ​ หลังจากนั้นจึงใช้เลื่อยโลหะตัดเหรียญหล่อออกจากกิ่งของช่อทีละองค์ก็จะได้เหรียญหล่อตามที่ต้องการ
-การตกแต่งขั้นสุดท้าย​ เนื่ิองจากเวลาที่ช่างตัดเหรียญออกจากกิ่งของช่อหล่อโดยการเลื่อยนั้นบริเวณใต้ฐานเหรียญจะไม่เรียบเสมอกัน​ทุกเหรียญจะมีส่วนของกิ่งที่ติดอยู่เป็นเนื้อเกินขึ้นมา ช่างจึงต้องมีการตกแต่งโดยใช้ตะไบเหล็กขนาดเล็กมาตะไบแต่งอีกครั้งหนึ่งเพื่อความเรียบร้อยและสวยงาม​ จากการศึกษาที่ผ่านมาจะพบการตะไบตกแต่งบริเวณใต้ฐานตรงจุดที่เชื่อมต่อของเหรียญกับกิ่งช่อหรือบางเหรียญที่มีการตะไบเกินมาบางส่วน​ของฐานและบางเหรียญที่ตะไบตลอดทั้งแนวใต้ฐาน

รูปภาพแสดงการหล่อช่อของเหรียญหล่อหลวงปู่ทวด​ วัดช้างไห้​  หลังเตารีด​ ปี2505
             ข้อสังเกตที่ข้าพจะขอแนะนำเป็นข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะนำมาใช้ในการศึกษาเหรียญหล่อโบราณที่ท่านควรจดจำและสามารถนำมาแยกแยะของแท้ออกจากของปลอมได้คือการพิจารณา”หูเหรียญ” ซึ่งท่านจะเห็นวิวัฒนาการของการสร้างของแต่ละยุคต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต้องจดจำไปใช้​   
การแบ่งชนิดของเหรียญหล่อโบราณโดยดูจากหูเหรียญแบ่งได้เป็น4แบบ
     1.เหรียญหล่อโบราณชนิดไม่มีหู​ เหรียญหล่อประเภทนี้จะมีการสร้างเฉพาะตัวเหรียญโดยไม่มีการสร้างหูเหรียญขึ้นมาแต่อย่างใดตัวอย่างเช่น​ เหรียญหล่อหลวงพ่อทา​ วัดเพนียงแตก​ รุ่น1ปีพ.ศ.2440​ และเหรียญหล่อหน้าเสือหลวงพ่อน้อย​ วัดธรรมศาลา​ จ.นครปฐม​ ปีพ.ศ.2498
                                                               เหรียญหล่อหลวงพ่อทา​ วัดเพนียงแตก​ รุ่น1
                                                        เหรียญหล่อหน้าเสือหลวงพ่อน้อย​ วัดธรรมศาลา​ จ.นครปฐม

  2.เหรียญหล่อโบราณชนิดที่มีหูในตัวอยู่ในแนวขวางกับขอบเเหรียญ​ แบ่งได้เป็น2แบบคือ​
2.1  เหรียญหล่อที่เหรียญสร้างจากบล็อค2บล็อค คือ​ 1.บล็อคตัวเหรียญ​ 2.บล็อคหูเหรียญ
เหรียญที่สร้างลักษณะนี้จะมีลักษณะเฉพาะของหูเหรียญคือเราจะเห็นรอยปลิ้นของเนื้อโลหะที่ด้านหลังเหรียญบริเวณที่หูเชื่อมติดกับพื้นเหรียญที่เรียกว่า”ตัวปลิง”ตัวอย่างของเหรียญนี้ได้แก่​ เหรียญหล่อจอบเล็กและจอบใหญ่​หลวงพ่อเงิน​ วัดบางคลาน​ จ.พิจิตร และเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่​ วัดกำแพง จ.นครปฐม

ท่านจะเห็นลักษณะปลิ้นของโลหะที่เรียกว่า”ตัวปลิง” ที่หูด้านหลัง​ ซึ่งลักษณะเฉพาะนี้ของปลอมจะทำออกมาได้ไม่เหมือนเราสามารถนำจุดนี้ไว้ช่วยพิจารณาได้
ลักษณะของหูเรียญที่เรียกว่า”ตัวปลิง” ของเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่​ วัดกำแพง
2.2เหรียญหล่อที่การสร้างเหรียญใช้บล็อคเพียงบล็อคเดียวในการหล่อทั้งหูเหรียญและตัวเหรียญ​ตัวอย่างเช่น​ เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง​ วัดช่องลม​ จ.ราชบุรี​ พ.ศ.2465จะเห็นว่าหูเหรียญจะไม่มีรอยปลิ้นที่ด้านหลังที่เรียกว่าตัวปลิง
3. เหรียญหล่อโบราณชนิดที่มีหูในตัวอยู่แนวขนานกับขอบเหรียญ ซึ่งมีการหล่อของหูเหรียญขึ้นมาพร้อมกับตัวเหรียญในขณะที่สร้างตัวอย่างเหรียญปรัเภทนี้ได้แก่เหรียญหลวงปู่รอด​ วัดบางน้ำวน​ ปีพ.ศ.2477​ เหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่​ วัดกำแพงรุ่น2

4.เหรียญหล่อโบราณชนิดหูเชื่อม​ เหรียญชนิดนี้จะมีการหล่อเฉพาะตัวหรียญเท่านั้นแล้วจึงนำหูหรือห่วงมาเชื่อมติดในภายหลังตัวอย่างของเหรียญประเภทนี้ได้แก่​ เหรียญหล่อเจ้าสัวหลวงปู่บุญ​ วัดกลางบางแก้ว​ จ.นครปฐม​ ปีพ.ศ.2475
จะพบการเชื่อมห่วงหรือหูเหรียญในแนวขวางกับขอบเหรียญ​ และจะสังเกตเห็นรอยเชื่อมด้วยน้ำประสานทองได้อย่างชัดเจน

ข้อสรุปและข้อชี้แนะในการศึกษาเหรียญหล่อโบราณ
1.ต้องระลึกอยู่เสมอว่าการพิจารณาเหรียญหล่อโบราณนั้นก็เหมือนกับพระเครื่องทุกชนิดคือ​ต้องมีอง์ประกอบหลัก3ประการครบถ้วนคือ                 

1.1ต้องทราบผู้สร้างหรือยุคสมัยที่สร้างเพื่อจะได้ทราบอายุของเหรียญหล่อที่สร้าง
1.2ต้องมีรายละเอียดของศิลปะครบถ้วน(คมชัด​ มีมิติ​ อ่อนช้อย​ งดงาม​ในรายละเอียด)
1.3ต้องมีมวลสารและวัสดุที่นำมาสร้างต้องถูกต้องตามประวัติการสร้างตามยุคสมัยของเหรียญ
2.มักจะมีคำพูดหรือข้อความเกี่ยวกับการศึกษาเหรียญหล่อโบราณให้พบเห็นอยู่เสมอในสื่อต่างๆว่า”เหรียญหล่อโบราณมักจะมีรายละเอียดไม่คมชัด​ ไม่สมบูรณ์​ พิมพ์ตื้น​เนื่องด้วยการสร้างนั้นเป็นภูมิปัญญาเเละเครื่องมือของชาวบ้าน” คำพูดนี้ทำให้เป็นช่องโหว่ของพวกที่ทำพระปลอมขึ้นมาซึ่งไม่สามารถทำพระได้คมชัดเหมือนของแท้​มาเป็นข้ออ้างเเละใช้เป็นช่องทางหากินกับผู้ที่ไม่มีประสบการฌ์  ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเพราะเหตุผลที่ว่าการออกแบบแม่พิมพ์ของดหรียญหล่อนั้นน่าจะเป็นของช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ทางศิลปะมาเป็นอย่างดีหรือบางครั้งอาจเป็นช่างหลวงไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป​จึงจะสามารถสร้างได้ ตัวอย่างเช่นเหรียญหล่อหลวงทา​ วัดเพนียงแตกรุ่น1ในปี2440นั้นองค์พระจะมีความงดงาม​ มีมิติ​ มีรายละเอียดของศิลปะที่อ่อนช้อยมากซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของช่างหลวง​ เนื่องจากหลวงพ่อทาในสมัยนั้น​เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ปฏิบัติชอบองค์หนึ่งในจำนวนหลายๆองค์ที่รัชกาลที่5​ทรงนับถือเป็นอย่างมากและจะได้รับพระบรมราชาณุญาตให้เข้าร่วมในพระราชพิธีปลุกเสกสำคัญๆทุกครั้ง​ ดังนั้นท่านจึงไม่ใช่พระสงฆ์สามัญทั่วไปเช่นเดียวกันกับเหรียญของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนังที่เหรียญพระเครื่องของท่านก็ได้ถูกออกแบบโดยช่างหลวงเช่นเดียวกัน
3.เหรียญหล่อโบราณทุกเหรียญจะต้องมีคราบขี้เบ้า(ดินนวลผสมขี้วัว)​ให้พบเห็นที่องค์พระเสมอมากบ้างน้อยบ้างอย่างน้อยก็อยู่ในบริเวณที่เป็นซอกลึกๆ​เนื่องจากเวลาสร้างเหรียญนั้นจะมีการนำดินนวลผสมขี้วัวมาทาไว้​ เวลาโลหะที่มีความร้อนสูงไหลเข้ามาในเบ้าดินนี้ก็จะหลอมรวมกันหรือกินเนื้อกับโลหะกลายเป็นคราบขี้เบ้าที่ผิวภายนอกเหรียญให้พบเห็นซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดบ่งชี้ของเหรียญหล่อโบราณที่ควรทราบ
4.มวลสารหรือโลหะที่นำมาสร้างเหรียญหล่อนั้นมักจะเป็นทองเหลืองและโลหะผสมต่างเช่นเงิน​ ทอง​ เครื่องใช้สำริดต่างๆที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้านทำให้ผิวของเหรียญเวลาส่องดูจะเห็นกระแสโลหะต่างๆแยกออกไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกันเกิดเป็นเสี้ยนหรือรอยย่นให้เห็นได้
5.เหรียญหล่่อโบราณบางองค์อาจจะมีปริมาณเนื้อโลหะที่หล่อไม่เต็มองค์เกิดเป็นหลุมหรือแอ่งเล็กๆหรือบางเหรึยญอาจมีเนื้อเกินจากการเทโลหะเหลวเวลาหล่อเกิดเป็นเนื้อเกินลักษณะกลมๆที่เรียกว่าลูกบอล​ให้เห็น อย่างไรก็ตามผิวของเหรียญหล่อแท้จะต้องเรียบตึงไม่ฝ่อเหมือนเหรียญปลอม
6.เหรียญหล่อโบราณที่ได้อายุผิวเหรียญจะต้องมีความแห้งมาก​ สีของโลหะจะซีดลงและเป็นมัน​และผิวเหรียญจะต้องไม่มีลักษณะเป็นประกายวาววับที่บ่งชี้ว่าเป็นของใหม่อย่างเด็ดขาด