Select Page

พระเครื่องชนิดเหรียญโลหะถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2440 โดยองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ (รัชกาลที่ 5)​ คือเหรียญ”พระพุทธชินสีห์” โดยมีการสร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จประพาสกลับจากยุโรป​ ซึ่งนับว่าเป็นจุดกำเนิดและต้นแบบของการสร้างพระเครื่องชนิดเหรียญโลหะมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้
–  การสร้างพระเหรียญโลหะนั้นเราสามารถแบ่งออกคร่าวๆเป็น 2 ยุค
1.”พระยุคเก่า”สร้างประมาณปีพ.ศ.2440 -​ 2499 แบ่ง​เป็น3ช่วงคือ​ ช่วงต้น​ กลาง​ และปลาย
2.”พระยุคใหม่” สร้างประมาณปีพ.ศ.2500 -​ จนถึงปัจจุบัน
การแบ่งยุคของการสร้างพระเหรียญโลหะนั้นถือว่าสำคัญมากเพราะเราสามารถนำรูปแบบการสร้างมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาพระแท้ออกจากของปลอมได้ เพราะการสร้างพระเหรียญโลหะในแต่ละยุคนั้นจะมีเอกลักษณ์และขั้นตอนการสร้างเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการสร้างจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ต้องการเริ่มต้นศึกษาพระเหรียญทุกท่านจะต้องทราบข้อมูลของการสร้างในแต่ละยุคสมัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน​ เพราะถ้าท่านไม่ทราบข้อมูลเบื้องต้นมาก่อนก็จะทำให้การศึกษาพระเหรียญของท่านขาดข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อไปประกอบการพิจารณา ข้าพเจ้าจึงขอนำประวัติและรายละเอียดของการสร้างพระเหรียญโลหะตั้งแต่ยุคต้นจนถึงยุคปัจจุบัน​มาเรียบเรียงให้ท่านได้ทราบเป็นข้อมูลพื้นฐานเสียก่อน​
-​  ขั้นตอนและหลักการสร้างพระเครื่องเหรียญโลหะมีดังนี้
1.การออกแบบแม่พิมพ์โดยช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านศิลปะ​
2.การเตรียมและสร้างแบบแม่พิมพ์จากแบบที่ออกแบบไว้​  ซึ่งจะมีแบบพิมพ์ด้านหน้าเหรียญ1ชิ้นและแบบพิมพ์ด้านหลัง1ชิ้น
3.การเตรียมวัสดุที่เป็นโลหะชนิดต่างๆที่ต้องการนำมาสร้างพระเครื่องเช่น​ ทองแดง​ เงิน​ ทองคำ​และโลหะผสมต่างๆ การเตรียมแผ่นโลหะที่จะนำมาสร้างพระเหรียญจะเริ่มจากการนำโลหะไปหลอมรวมกันในเตาหลอมแล้วนำมารีดให้เป็นแผ่นบางๆมีความหนาตามที่ต้องการซึ่งจะต้องไม่หนาหรือบางมากเกิ​นไป
4.การสร้างพระ​(ปั๊ม)​ ขั้นตอนแรกคือการนำแม่พิมพ์ที่เป็นส่วนด้านหน้าเหรียญมาไว้ด้านล่างแล้วนำแผ่นโลหะที่เตรียมไว้มาเผาให้ร้อนพอประมาณแล้วนำมาวางบนแม่พิมพ์​ ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังเหรียญจะอยู่ด้านบนและถูกปั๊มหรือกระแทกลงมาที่แผ่นโลหะในจุดที่ตรงกันก็จะได้เหรียญพระที่มี2ด้านแล้วทำการเลื่อยตัดขอบเหรียญ​เป็นอันเสร็จขั้นตอน​ของการสร้างเหรียญในยุคต้น​ ส่วนในยุคถัดมาช่างจะนำแผ่นโลหะที่ตัดไว้พอดีกับขนาดเหรียญแล้วมาปั๊มก็จะได้เหรียญพระตามที่ต้องการเรียกว่า”เลื่อยข้างปั๊มกระบอก” และอาจมีการตกแต่งขอบเหรียญ​
–  การออกแบบและการสร้างแม่พิมพ์โดยช่างศิลป์หรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านศิลปะ
หลักคิดนี้สำคัญมากที่ผู้ที่ศึกษาพระเครื่องทุกคนต้องมีความเข้าใจและตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็สามารถออกแบบแม่พิมพ์ได้​ซึ่งเป็นจุดหลักที่สำคัญ 1 ใน 3 จุดที่จะบ่งชี้ว่าพระเครื่องนั้นแท้หรือปลอมได้เลย โดยดูจากผลงานการออกแบบที่มีองค์ประกอบทางศิลปะที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่​(ซึ่งองค์ประกอบนี้จะไม่พบในพระปลอม)​การออกแบบแม่พิมพ์จะแตกต่างกันตามยุค​สมัย
–  การสร้างพระเหรียญยุคเก่า พ.ศ.2440-2499
การสร้างพระเหรียญในยุคต้นนั้นแบบพิมพ์ของเหรียญจะถูกเขียนลงบนกระดาษสาก่อนทั้งแบบด้านหน้าและด้านหลังแล้วจึงลอกแบบจากกระดาษสาลงบนเหล็กรางรถไฟเนื่องจากเหล็กชนิดนี้มีความคงทนและแข็งแรงมาก​ เสร็จแล้วจึงนำเหล็กนั้นมาเผาไฟทั้งแท่งรอจนเหล็กเริ่มเย็น ขณะที่เหล็กเริ่มเย็นลงแต่ไม่ถึงกับแข็งมากจึงนำเเผ่นเหล็กมาแกะด้วยมือตามแบบที่เขียนเอาไว้ก่อนหน้านี้ การแกะด้วยมือนั้นจะมีความลึกไม่มากเหมือนกับการแกะด้วยเครื่องเนื่ิองจากความแข็งของเหล็กจึงทำให้เกิดเป็นมิติแบบนูนต่ำออกมาให้เห็น จะไม่นูนสูงและลึกเหมือนกับเหรียญรุ่นใหม่ บางครั้งอาจจะมีการแกะพลาดบ้างเกิดเป็นริ้วรอยหรือเส้นบางๆ ที่เราเรียกว่า”เส้นขนแมว”  สิ่งนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมรายละเอียดของพระเหรียญที่สร้างก่อนพ.ศ.2500 จึงเป็นศิลปะแบบนูนต่ำและในขณะที่แกะแบบพิมพ์เหรียญนั้นช่างจะไม่ได้แกะหูเหรียญเอาไว้เลยซึ่งเหตุผลก็มิอาจจะทราบได้ จึงต้องมีการนำหูเหรียญมาเชื่อมติดในภายหลังโดยใช้ตะกั่ว​ เงิน​หรือน้ำประสานทองเป็นตัวประสานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโลหะที่นำมาสร้างพระนั้น ต่อมาจึงค่อยมีการพัฒนาขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2484-2485เป็นต้นมาได้เริ่มมีการแกะแบบพิมพ์ให้มีหูอยู่ในพิมพ์​ไม่ต้องมาเชื่อมหูติดกับเหรียญในภายหลังซึ่งเหรียญลักษณะนี้มักจะมีเนื้อปลิ้นมาทางด้านหลังของหูเหรียญหลังจากการปั๊มเสร็จเเล้วซึ่งเราเรียกว่า”ตาไก่” เหรียญยุคนี้ต้องนำมาเลื่อยหรือเข้าเครื่องตัดอีกทีหนึ่ง
–  การสร้างพระเหรียญในยุคต้นนั้นถ้าแบ่งตามลักษณะของหูเหรียญ​ จะแบ่งได้​เป็น2ช่วง
1.เหรียญที่ไม่มีหูในตัวขณะออกแบบแม่พิมพ์​จะต้องนำหูเหรียญมาเชื่อมในภายหลังที่เรียกว่าเหรียญหู(ห่วง)​เชื่อม จะเริ่มตั้งแต่พ.ศ.2440​ จนถึงพ.ศ.2485โดยประมาณ
2.เหรียญที่มีหูในตัวพร้อมกับการสร้างแบบพิมพ์เรียกว่าเหรียญหูในตัวเริ่มมีการสร้างกันแพร่หลายเมื่อประมาณพ.ศ.2470 แต่ที่พบครั้งแรกคือเหรียญหลวงปู่เอี่ยมวัดหนังเนื้อทองคำในปีพ.ศ.2467เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
–  การสร้างพระเหรียญในยุคต้นตามลักษณะของขอบข้างเหรียญ แบ่งได้เป็น 3 ช่วง
1. เหรียญปั๊มข้างเลื่อย​ มีการสร้างตั้งแต่พ.ศ.2440 ถึงพ.ศ.2485 โดยการนำแผ่นโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดเหรียญมาปั๊มโดยแม่พิมพ์ เสร็จแล้วนำมาเลื่อยฉลุให้ได้รูปทรงตามแบบของเหรียญ​ จะสังเกตเห็นรอยของเลื่อยฉลุที่ขอบเหรียญเป็นบั้งหรือเป็นปื้นถี่ห่างตามความเร็วของช่างที่เป็นผู้เลื่อยบริเวณที่เป็นทางตรงรอยเลื่อยจะค่อนข้างเรียบสม่ำเสมอ​ ส่วนบริเวณที่หักมุมหรือรอยคอดจะพบรอยใหญ่กว่าเพราะต้องลดความเร็วลง​ แนวเส้นของรอยเลื่อยนั้นอาจจะเป็นแนวตรงตั้งฉากกับขอบเหรียญหรือเป็นแนวเฉียงขึ้นอยู่กับการเอียงใบเลื่อยของช่าง​จะไม่เป็นแนวตรงและร่องละเอียดหมือนการตัดปั๊ม จุดนี้เป็นข้อสังเกตเพราะเป็นธรรมชาติในการสร้างที่ต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย​
2. เหรียญเลื่อยข้างปั๊มกระบอก เป็นการสร้างแบบยุคเก่าช่วงต้นถึงกลางเริ่มมีการทำขึ้นประมาณปีพ.ศ.2459(ตัวอย่างคือเหรียญหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย)​ถึงประมาณพ.ศ.2485  วิธีการโดยนำเอาแผ่นโลหะที่จะสร้างเหรียญมาเลื่อยให้ได้ขนาดเท่าแบบแม่พิมพ์ของเหรียญก่อน แล้วนำไปเข้ากระบอกเพื่อบล็อกเหรียญไว้แล้วจึงทำการปั๊มด้วยแม่พิมพ์ ด้วยวิธีการนี้ขอบของเหรียญจะมีความเรียบเนียนกว่าเหรียญข้างเลื่อยเนื่องจากขอบของเหรียญที่มีรอยเลื่อยอยู่ก่อนการปั๊ม​ หลังจากถูกกระแทกอย่างแรงขณะปั๊มจะไปกระแทกกับกระบอกทำให้ขอบเหรียญที่มีรอยเลื่อยนั้นเรียบเนียนขึ้น ในบางองค์ที่บริเวณขอบเหรียญที่ถูกเลื่อยเว้าเข้ามามากไปเวลาถูกปั๊มขอบของเหรียญจะขยายตัวไปไม่ถึงขอบของกระบอกที่บังคับเราจึงสามารถพบเห็นรอยเลื่อยที่ขอบเหรียญในจุดนี้ได้หรือบางเหรียญที่ขอบถูกตัดใหญ่มากจนชิดขอบกระบอกเวลาถูกปั๊มขอบเหรียญจะกระแทกกับขอบของกระบอกทำให้เกิดรอยปลิ้นขึ้ินมาที่ขอบเหรียญให้เห็น
3.การปั๊มตัดโบราณประมาณปีพ.ศ.2485 ถึงพ.ศ.2499 โดยการนำเค​รื่องจักรในการตัดขอบเหรียญมาใช้แทนการเลื่อยแบบกรรมวิธีเก่าเราเรียกการปั๊มข้างตัด​ ซึ่งการตัดจะไม่คมและมีร่องรอยการตัดเหมือนในยุคปััจุบันเพราะเครื่อตัดยังไม่คมเหมือนยุคหลัง​ อย่างไรก็ตามการระบุปีที่สร้างพระเหรียญโลหะนั้นจะมีความคาบเกี่ยวกันของละแบบไม่ได้ตรงตามปีที่ระบุไว้100% ทั้งนี้เราจะต้องนำข้อพิจารณาของการสร้างพระเครื่องอื่นๆอีก2ข้อคือความเก่าและศิลปะนั้้นมาประกอบการพิจารณาด้วยทุกครั้งก่อนที่จะสรุปตัดสินใจ
–  การสร้างพระเหรียญยุคใหม่พ.ศ.2500 -​ ปัจจุบัน
การออกแบบแม่พิมพ์เหรียญโลหะยุคใหม่นั้นจะนำภาพของพระที่ต้องการจะสร้างเป็นเหรียญมาออกแบบบนกระดาษก่อนแล้วจึงนำไปถ่ายลงแผ่นฟิล์มแล้วนำไปประกบกับเหล็กอ่อนก่อนใช้เครื่องมือหรือช่างมาแกะเป็นแบบออกมาซึ่งจะคมชัดมีมิติกว่าเหรียญยุคเก่าแล้วจึงนำเหล็กไปชุบน้ำยาทำให้เหล็กแข็งตัวก่อนจึงนำไปใส่ที่เครื่องปั๊มด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย​แรงอัดกระแทกดี​ เหรียญที่ออกมาจึงมีสภาพคมชัดมาก​มีลักษณะเป็นศิลปะแบบนูนสูง​สังเกตจากผนังพื้นเหรียญจะอยูต่ำกว่าตัวองค์พระมาก​ผิวเรียบตึงขอบมีความเรียบเนียน​ และมีรอยตัดที่คม​มากเหมือนที่เราได้พบเห็นได้ทั่วไปในการสร้างพระเหรียญโลหะตามวัดต่างๆในปััจจุบันนี้
–  การทำพระเหรียญปลอมในรูปแบบต่างๆที่สามารถได้พบในปัจจุบันนี้
1.การทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่โดยการออกพิมพ์ขึ้นใหม่ให้เหมือนของแท้
2.การทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่โดยการถอดพิมพ์จากของแท้
1.การทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่โดยการออกแบบพิมพ์ขึ้นให้เหมือนของแท้​  วิธีการนี้จะทำได้3แบบคือ
1.1การออกแบบพิมพ์ใหม่โดยใช้คนเป็นผู้ออกแบบ​หรือที่เรียกว่า”แกะสด” วิธีการนี้องค์พระจะขาความงดงาม​ทางศิลปะ, ความสมบูรณ์ในองค์ประกอบหลัก​และรอง​ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ง่ายและชัดเจนกว่าแบบอื่นรายละเอียดต่างๆจะดูแข็งที่เราเรียกว่า”เก๊ตาเปล่า”หรือ”ไม่นิ่มตา” เกิดจากพวกนักปลอมที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะ​ผลงานที่ออกมาจึงดูด้อยค่าแต่สำหรับผู้ที่ขาดความชำนาญและไม่เคยศึกษาของจริงมาก่อนก็ยังมีสิทธิ์ถูกหลอกได้เช่นกัน

1.2  การทำแบบพิมพ์โดยใช้การลอกลายลงบนแผ่นฟิล์มใสแล้วนำไปทำNegative ลงแผ่นเหล็กเป็นแม่พิมพ์จากนั้นใช้น้ำยากัดเหล็กก็จะได้เป็นแม่พิมพ์ออกมาวิธีนี้เราเรียกว่า”บล็อกฮ่องกง”ซึ่งทำในบ้านเราแต่ใช้วิธีการของเขา​ แบบนี้จะปลอมได้ดีกว่าแบบแรก
1.3 การออกแบบพิมพ์ใหม่โดยใช้เครื่องจักรCNCเป็นวิธีที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างแม่พิมพ์ทำให้เป็นงาน3มิติ​ จากนั้นสั่งออกมาเป็นต้นขี้ผึ้ง มักทำขนาดเท่าของจริงแล้วถอดลงบล็อกทองแดง แล้วนำไปสปาร์คด้วยเครื่องedm ลงบนแท่นเหล็กที่จะทำแม่พิมพ์​ ปั๊มงานแม่พิมพ์ที่ได้จากวิธีนี้จะไม่ตึงซึ่งแม่พิมพ์ปั๊มเหรียญในปัจจุบันนี้ชอบใช้กันมาก
2. การทำแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่โดยการถอดพิมพ์จากของแท้ เนื่องจากการทำพระปลอมด้วยการทำแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่แล้วนำมาปั๊มนั้นจะปั๊มอย่างไรก็ไม่เหมือน เพราะว่าถ้าแกะบล็อกใหม่เส้นสายรายละเอียดแบบเดิมที่ผู้ออกแบบได้ทำเอาไว้หรือที่เราเรียกว่าตำหนิไม่มีทางที่จะทำให้เหมือนได้ เพราะเป็นการทิ้งไว้แบบไม่ตั้งใจไม่จงใจแต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับนักสะสมมือใหม่เป็นอย่างยิ่งถ้าเรารู้จักสังเกตและจดจำ และถ้านำเครื่องปั๊มในยุคปัจจุบันไปปั๊มด้วยแล้วยิ่งจะทำให้เกิดความแตกต่างนอย่างมากเพราะกรรมวิธีที่สร้างแตกต่างกันตามยุคสมัยที่ได้กล่าวไว้แล้ว​  จึงวิธีเดียวที่จะทำได้ใกล้เคียงคืออาศัยวิธีถอดพิมพ์​ การถอดพิมพ์จะใช้ยางซิลิโคนหรือใช้ปูนที่ทันตแพทย์ใช้ทำแบบทำฟันปลอม ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเก็บรายละเอียดได้เพราะซิลิโคนเป็นของเหลวจะแทรกซึมเข้าไปได้ทุกอนูของเหรียญแม้แต่เส้นขนแมวและจุดลับต่างๆก็ถอดติด​ เมื่อรอจนซิลิโคนแข็งตัวแล้วก็ทำเหมือนเดิมกับด้านหลัง​เมื่อได้ครบทั้ง2ด้านแล้วก็ถอดออกเอาปูนทนไฟมากรอกลงในยางแม่พิมพ์ที่ได้เมื่อปูนแข็งตัวแล้วแกะเอาซิลิโคนออก​ แล้วจึงหลอมเอาโลหะที่จะทำแม่พิมพ์พระนั้นมาให้ความร้อนจนละลายแล้วเทใส่ในปูนทนไฟนั้นทิ้งไว้จนเย็นจึงทุบเอาปูนออกก็จะได้แม่พิมพ์เหรียญที่ถอดพิมพ์ออกมา​ จะเห็นว่าต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนมากจึงทำให้เหรียญที่ถอดพิมพ์แบบนี้มีขนาดเล็กลงกว่าของแท้​ เหรียญที่ทำปลอมลักษณะนี้ส่วนมากจะใช้วิธีเหวี่ยงหลังจากเทโลหะเข้าแม่พิมพ์​ เมื่อถอดพิมพ์ออกมาแล้วจะใช้น้ำยาเคมีมาตกแต่งพื้นผิวเหรียญอีกครั้​ง​ สิ่งที่เราจะสังเกตเห็นข้อบกพร่องของการปลอมวิธีนี้คือ​เส้นสายรายละเอียดต่างๆของเหรียญจะไม่คม​ไม่พริ้วและจะดูแข็งเช่นดวงตาจะดูแบนไม่นูนคมชัด​เค้าหน้าจะตื้นกว่าไม่เป็นธรรมชาติ​ ตัวหนังสืออักขระต่างๆจะโย้เอียงเพราะใช้แรงเหวี่ยงมากนั่นเอง​ ถ้าเรามีของจริงเปรียบด้วยแล้วจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน​และถ้าสังเกตพื้นเหรียญประกอบด้วยแล้วจะแยกได้ง่ายขึ้นเพราะเหรียญที่ถอดด้วยวิธีนี้โลหะไม่ได​้ผ่านการรีดและไม่ได้ผ่านการปั๊มพื้นเหรียญจึงไม่มีความเรียบตึงให้เห็นหรือที่เราเรียกว่า”เหรียญบวม”นั่นเอง​ ในส่วนของขอบเหรียญก็ไม่ร่องรอยของการเลื่อยหรือการตัดให้ได้พบเห็น​  เขาก็จะทำเป็นรอยเส้นๆคล้ายการเลื่อย​หรือการตัดที่ขอบเหรียญถ้าผู้ที่มีประสพการก็จะรู้ได้ว่าไม่ได้ผ่านการเลื่อยหรืดตัดมาจริงๆแต่อย่างใดเป็นการทำขึ้นมาในภายหลังเท่านั้น
จากวิธีการทำพระปลอมในแบบต่างๆที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอไปในเบื้องต้นแล้วนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำปลอมด้วยวิธีใดก็ตามพระแท้ย่อมต้องแท้เสมอส่วนพระปลอมก็เช่นเดียวกัน​ เพราะต่อให้ทำปลอมได้ใกล้เคียงมากขนาดไหนก็ไม่มีทางจะเหมือนได้100%อย่างแน่นอนยิ่งถ้าท่านได้เคยศึกษาของจริงมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยแล้วตัวท่านจะทราบได้ดีด้วยตัวท่านเอง​ แต่ถ้าท่านไม่เคยศึกษามาก่อนหรือศึกษามาแบบผิดวิธีแล้วท่านก็จะคิดว่าเป็นการยากที่จะแยกแยะของแท้และของปลอมเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่พบเจอปัญหาอยู่ในขณะนี้​ แต่ถ้าท่านทดลองศึกษาตามแนวทางที่ข้าพเจ้าได้เคยแนะวิธีไว้ให้ครบถ้วนแล้วท่านจะทราบว่ารายละเอียดจุดตำหนิของของปลอมนั้นถึงจะมีครบเหมือนของแท้​ทุกอย่างแต่ถ้าพิจารณาลึกลงไปในธรรมชาติการสร้างแล้วท่านจะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนและยิ่งถ้าพิจารณาลึกลงไปในองค์ประกอบหลักเพิ่มเติมอีก2ประการคือธรรมชาติความเก่า​และธรรมชาติของมวลสารที่นำมาสร้างประกอบเข้าไปด้วยแล้วท่านจะเห็นความแตกต่างมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังจะสรุปให้เห็นได้ว่าถ้าองค์ประกอบหลัก1ใน3อย่างเมื่อเราพิจารณาแล้วว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือมีข้อสงสัยเกิดขึ้นแล้วส่วนที่เหลือขององค์ประกอบอีก2อย่างก็มักจะไม่ได้ตามๆกันไปด้วยทั้งหมด
ดังนั้นท่านผู้ที่เข้ามาศึกษาพระเครื่องทุกท่านจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีวิธีการทำพระเลียนแบบหรือพระปลอมด้วยวิธีต่างๆมากมายเป็นเหตุให้มีจำนวนพระปลอมอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาลในสนามพระมากกว่าจำนวนพระแท้อยู่หลายเท่าตัว จึงนับว่าเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาศึกษาพระเครื่อง ดังนั้นท่านที่ไม่ได้ศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว​ ท่านอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพนี้ได้โดยง่ายและหนทางเดียวที่ท่านจะแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวท่านเองอย่างจริงจังและถูกวิธี​ อย่าไว้วางใจผู้อื่นอย่างไม่ลืมหูลืมตาไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร​ เพื่อเอาไว้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับตัวท่านเองในยุคปัจจุบันนี้
ข้อคิดและพิจารณาที่ข้าพเจ้าขอสรุปฝากไว้สำหรับการศึกษาพระเหรียญ(เหรียญปั๊ม)​
1.หลักการพิจารณาเบื้องต้นทุกๆครั้งท่านจะต้องดูเหรียญด้วยตาเปล่าก่อนเสมอทุกครั้งในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะเพื่อพิจารณาภาพโดยรวมตั้งแต่​สี​ของโลหะ ความแห้ง​ น้ำหนักของเหรียญเช่นเหรียญเนื้อทองคำจะต้องหน่วงมือมากกว่าเหรียญชนิดอื่น​ ดูรายละเอียดของพิมพ์ในภาพรวมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง​เสียก่อน​ บางเหรียญที่ทำปลอมฝีมือไม่ถึงขั้นนั้นแค่มองด้วยตาเปล่าก็สรุปได้เลยที่เราเรียกว่า”เก๊ตาเปล่า”เมื่อพิจารณาจนครบถ้วนแล้วจึงใช้กล้องส่องขยายเป็นอันดับต่อไป
2.พระเหรียญปั๊มนั้นพื้นผิวเหรียญทุกเหรียญจะต้องเรียบตึงสาเหตเนื่องมาจาก-การรีดแผ่นโลหะ​ก่อนปั๊ม,การกระแทกจากเครื่องปั๊ม​ และการหดตัวของโลหะเมื่อเย็นลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีหรือร้อยปีซึ่งจะมีความแตกต่างกับเหรียญที่ทำปลอมขึ้นมาในช่วงเวลาไม่กี่ปี
3.ความเก่าของโลหะจะต้องมีมากน้อยสมกับอายุการสร้างเราสามารถพิจารณาอายุความเก่าจากคุณสมบัติของโลหะทุกชนิดจะต้องทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนในอากาศเกิดเป็นอ็อกไซด์หรือสนิมยิ่งอายุเหรียญมากสนิมยิ่งหนามาก​และสีของสนิมโลหะก็สามารถบอกชนิดของโลหะได้
-​  โลหะทองคำที่นำมาสร้างพระเหรียญนั้นจะมี%ทองคำเฉลี่ยมากกว่า80%จะไม่ใช้ทองคำบริสุทธิ์​ ซึ่งสีของสนิมพระเหรียญเนื้อทองคำ(Au2O3)​นั้นจะมีสีแดง-น้ำตาล​
-​  โลหะเงินที่นำมาสร้างพระเหรียญนั้นจะมีสนิมเป็นสีดำหรือเทาดำ
-​  โลหะทองแดงที่นำมาสร้างพระเครื่องนั้นจะมีสนิมเป็นน้ำตาลหรือน้ำตาลอมดำ
ปัจจุบันนี้มีการทำปลอมพระเหรียญแม้แต่สีสนิมของโลหะก็ยังมีให้พบเห็นมากมาย​ แต่อย่างไรก็ตามจะทำได้ไม่เหมือนของแท้เพราะสนิมของแท้จะดูมีธรรมชาติมากกว่าทั้งสีที่แก่อ่อนไม่เท่ากันในแต่ละจุดของเหรียญ​ สีสนิมเก่าที่ดูแห้งไม่สดใหม่​ สนิมที่อยู่ในซอกที่ไม่ถูกสัมผัสจะหนากว่าจุดที่สัมผัสได้ง่าย
4.ผิวของเหรียญจะต้องแห้งไม่มีความมันวาวให้พบเห็นอายุเหรียญยิ่งเก่าจะยิ่งแห้งมากขึ้นตามลำดับเนื่องจากความชื้นที่ถูกคายออกมาเองตามธรรมชาติและจากอุณภูมิที่ร้อนในบ้านเรา
5.สีหรือวรรณะของเหรียญจะต้องจางลงทั้งสีที่ตัวเนื้อโลหะหรือสีของลงยาหรือกะไหล่ต่างๆที่ทำไว้ตอนเริ่มสร้างจะต้องซีดจางลงหม่นลงตามกาลเวลาตามธรรมชาติ​ แต่ของปลอมนั้นเนื้อโลหะจะดูเยิ้มและสด​ในส่วนที่เป็นสีของกะไหล่จะดูเปียกและเหนอะและตัวกะไหล่ของปลอมจะหนามากเมื่อเทียบกับของแท้
6.เหรียญโบราณยุคต้นจะมีความบางมากโดยเฉพาะเหรียญเนื้อทองคำจะมีความบางเป็นพิเศษ​ซึ่งของปลอมจะทำออกมาหนากว่าอย่างเห็นได้ชัด
7.ศิลปะในรายละเอียดของพิมพ์ของเหรียญยุคต้นนั้นจะเป็น”ศิลปะแบบนูนต่ำ” แต่มีรายละเอียดครบถ้วนและอ่ออนช้อยและงดงามซึ่งเป็นความสามารถของช่างศิลป์ในยุคต้น​ ซึ่งถ้าเราเคยศึกษาของจริงมาแล้วจะสามารถแยกแยะได้ง่ายขึ้น
8.ต้องทราบและเคยเห็นลักษณะของพระแท้ในเรื่องส่วนประกอบต่างๆให้เข้าใจเสียก่อนเช่น​ การจดจำการทำห่วงเชื่อมและลักษณะของน้ำยาที่ใช้ประสาน​ ​,การจดจำขอบเหรียญที่เป็นเหรียญข้างเลื่อย, การจดจำขอบเหรียญที่เป็นเลื่อยข้างปั๊มกระบอก​, การจดจำเหรียญปั๊มตัด​  ต้องศึกษาสิ่งเหล่าให้ชำนาญเสียก่อนเวลาไปดูจริงๆจะได้ไม่สับสนและถูกหลอกได้ง่าย​ เพราะของปลอมนั้นจะทำมาให้เราได้พบเจอทุกรูปแบบถ้าเราไม่ชำนาญก็จะผิดพลาดได้​ แต่ถ้าท่านศึกษาและพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆที่ข้าพเจ้าได้แนะนำอย่างครบถ้วนแล้วจะช่วยให้ลดข้อผิดพลาดต่างๆได้อย่างแน่นอน