
การศึกษาพระเครื่องเนื้อเมฆพัด
การสร้างพระเครื่องเนื้อเมฆพัดและเนื้อเมฆสิทธิ์
คำว่า”เมฆสิทธิ์” และ”เมฆพัด”นั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกโลหะผสมหลากหลายชนิดที่นำมาหลอมรวมกันตามกรรมวิธีแบบโบราณหรือที่เรียกกันว่า”เล่นแร่แปรธาตุ” หากนำมาสร้างพระเครื่องก็จะหมายถึง”โลหะธาตุกายสิทธิ์” ที่มีอานุภาพช่วยคุ้มครองและป้องกันอันตราย ช่วยเสริมบารมีและให้คุณกับผู้ครอบครอง ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยในอดีตให้ความนับถือและแสวงหามาครอบครองกันเป็นอย่างมาก แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีความนิยมอยู่มิเสื่อมคลาย แต่เนื่องจากการสร้างที่มีจำนวนน้อยมากและมีอายุการสร้างมานานร่วม100ปีจึงเป็นพระเครื่องที่หาชมและสะสมได้ยากมาก ประกอบกับมีการทำปลอมขึ้นมาจำนวนมากมีทั้งพิมพ์ที่คลาดเคลื่อนรวมถึงการสร้างและมวลสารที่นำมาใช้สร้างไม่ตรงกับข้อมูลเดิมที่เคยสร้างไว้ จึงทำให้เกิดปัญหากับผู้ที่ต้องการศึกษาเป็นอย่างมาก ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์ที่จะรวบรวมข้อมูลและประวัติการสร้างรวมถึงตัวอย่างพระเครื่องของจริงที่ถูกต้องทั้งพิมพ์ ความเก่าและมวลสารพร้อมข้อมูลใหม่ทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบหาชนิดและปริมาณของโลหะที่เป็นมวลสาร เพื่อช่วยให้เราศึกษาได้ละเอียดและแม่นยำมากขึ้นกว่าในอดีต
พระเครื่องเนื้อเมฆพัด
“เมฆพัด” นั้นตัวสะกดของคำว่า”พัด”ต้องใช้ “ด”ไม่ใช่”เมฆพัตร”ซึ่่งแปลตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานว่า”ชื่อโลหะที่เกิดจากการเอาแร่มาหุงเข้าด้วยกันแล้วซัดด้วยกำมะถัน มีสีดำเป็นมัน แววเป็นสีคราม เรียกพระเครื่องที่ทำจากโลหะชนิดนี้ว่าพระเมฆพัดหรือ พระเนื้อเมฆพัด” ตามความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณถือว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์มีอานุภาพในตัวเองเพราะขณะที่สร้างขึ้นตามกรรมวิธีนั้นจะมีการผสมน้ำว่านยาต่างๆเช่นไพรดำ ต้นหิงหาย ไม้โมก ขิงดำ กระชายดำ สบู่แดง สบู่เลือด ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็จะมีการบริกรรมปลุกเสกด้วยคาถาไปตลอดจนครบกระบวนการผสมแร่ธาตุต่างๆ
ลักษณะทางกายภาพของเนื้อเมฆพัด
สีของเนื้อเมฆพัดจะเป็นสีดำและผิวเป็นมันวาวถ้าดูทำมุมสะท้อนกับแสงจะมีสีเหลือบอมครามหรือน้ำเงิน แต่เมื่อนำเนื้อเมฆพัดมาขัด องค์พระจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือขาวอมครามแต่พอทิ้งไว้นานๆจะเปลี่ยนกลับไปเป็นสีเทาเหลือบน้ำเงินเข้มหรือสีเทา
แร่ธาตุหลักที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเมฆพัดจากข้อมูลในอดีตก็คือทองแดง(Cu)และตะกั่ว(Pb) และเมื่อนำมาตรวจสอบด้วยเครื่องมือก็จะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกัน ซึ่งทั้งทองแดงและตะกั่วซึ่งจะมีปริมาณรวมกันถึง99%ของมวลสารทั้งหมด (สัดส่วนของทองแดงและตะกั่วนั้นขอสงวนไว้ไม่นำมาเปิดเผยณที่นี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่คิดจะลอกเลียนแบบได้นำไปเป็นข้อมูล)
– จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าXRF Spectrometer ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบหาชนิดและปริมาณของโลหะพบว่าพระเนื้อเมฆพัดของหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จำนวน4องค์ (รูปที่2) ซึ่งเป็นพิมพ์ที่แตกต่างกันที่ข้าพเจ้าได้เก็บสะสมไว้ต่างวาระกันมานานหลายปี พบว่าทั้งชนิดและปริมาณของโลหะของพระทั้งหมดนั้นตรงกันคือประกอบไปด้วยโลหะทองแดง(Cu)และตะกั่ว(Pb) ซึ่งมีความใกล้เคียงกันมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้สร้างในยุคนั้นมีหลักการและขั้นตอนในการสร้างที่เป็นมาตรฐานมีการชั่งและวัดปริมาณส่วนประกอบที่แน่นอนก่อนทำการสร้าง ซึ่งจุดนี้เองเป็นข้อมูลสำคัญที่ไม่เคยมีใครนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้เป็นมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและทำให้ไม่มีใครโต้แย้งได้ ปัจจุบันนี้ในวงการพระเครื่องถ้าหากไม่มีข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนและมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันแล้วจะทำให้การลบล้างความเชื่อในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นไปได้ยากมาก เพราะจะมีข้อโต้แย้งที่ไม่มีเหตุผลตามมาได้ตลอด
– เครื่องมือXRF Spectrometer มีทั้งขนาดใหญ่มาตรฐานที่ใช้ในห้องปฏิบัติการและขนาดเล็กที่สามารถนำไปใช้ภายนอกสถานที่เช่นเหมืองแร่ และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อสะดวกในการพกพาและการใช้งาน ซึ่งเครื่องมือชนิดพกพานี้จะมีความเที่ยงตรงใกล้เคียงกับเครื่องขนาดใหญ่ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ(ตามรูปที่1)
รูปที่ 1 เครื่อง XRF Spectrometer
รูปที่ 2. ภาพการตรวจสอบพระเนื้อเมฆพัดหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ด้วยเครื่องXRF Spectrometer
รูปที่ 3.ใบรายงานผลของเครื่อง XRF Spectrometer
ใบรายงานผลตรวจสอบจะแจ้งรายละเอียดต่างๆ ด้านบนสุดจะเป็นชื่อผู้ส่งตรวจ วันที่ส่งตรวจ ชื่อพระ องค์ที่ ส่วนด้านล่างจะเป็นชนิดและปริมาณโลหะที่ตรวจพบจะเป็นตัวเลขสีดำของโลหะทองแดงและดีบุกซึ่งมีปริมาณรวมกัน99% ในสัดส่วนที่เท่ากัน1:1หรือใกล้เคียงกันมาก ส่วนที่เหลืออีก0.9%%เป็นดีบุก แมงกานีส และพลวง และอีก0.1%เป็นโลหะหลายชนิดรวมกันที่พบในปริมาณที่น้อยมากๆคือทองคำ เงิน นิเกิล ซีลีเนียม และสังกะสี ส่วนชนิดโลหะที่มีตัวเลขรายงานผลเป็นสีแดงนั้นคือโลหะที่ตรวจไม่พบ ซึ่งพระทุกองค์จะมีชนิดและปริมาณโลหะที่เป็นมวลสารหลักที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดเป็นสูตรของการสร้างไม่ใช่แค่การนำโลหะมาผสมกันธรรมดาแต่จะต้องมีการชั่ง ตวง วัด อย่างแน่นอน
จากชนิดของโลหะที่เป็นมวลสารหลักที่หาได้จากเครื่องSpectrometerนี้ทำให้เราสามารถมีคำอธิบายในเรื่องของสีของพระเนื้อเมฆพัดได้อย่างมีหลักการและมีเหตุผลมาสนับสนุน โดยอาศัยข้อมูลจากคุณสมบัติและธรรมชาติของโลหะหลัก2ชนิดในองค์พระนั่นเอง
- ทองแดง มีปริมาณครึ่งหนึ่งของมวลสารหลักมีความถ่วงจำเพาะ8.94 ซึ่งธรรมชาติและคุณสมบัติของทองแดงนั้นเมื่อหลอมเสร็จใหม่ๆจะมีสีแดงอมน้ำตาลและเมื่อทิ้งไว้ให้สัมผัสกับอากาศเป็นเวลานานบริเวณผิวขององค์พระก็จะเปลี่ยนสีเป็นหมองคล้ำและเปลี่ยนเป็นสีเทาอมดำหรือกลับดำ
- ตะกั่ว เป็นมวลสารหลักที่มีสัดส่วนเท่ากันกับทองแดงแต่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าทองแดงคือ11.35 ซึ่งหมายความว่าตะกั่วจะมีน้ำหนักมากกว่าทองแดง จากคุณสมบัตินี้ทำให้เวลาโลหะผสมถูกเทลงในพิมพ์จะทำให้ตะกั่วนั้นตกลงมาอยู่ด้านล่างหรือบริเวณที่เป็นผิวขององค์พระได้มากกว่าทองแดง(ตัวอย่างเช่น”พระสำริดทอง”แม้จะมีปริมาณทองคำผสมอยู่ไม่มากแต่เมื่อเราส่องขยายที่ผิวพระก็จะเห็นทองคำที่ผิวได้ง่ายเนื่องจากทองคำมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าโละทุกชนิดที่นำมาสร้างพระ เวลาเทโลหะผสมที่เป็นของเหลวลงแม่พิมพ์ทองคำจะตกลงมาที่ส่วนล่างสุดคือที่ผิวขององค์พระได้ก่อนโลหะชนิดอื่น)ธรรมชาติและคุณสมบัติของตะกั่วนั้นเมื่อหลอมเสร็จใหม่ๆจะมี”สีขาวอมน้ำเงิน” เมื่อทิ้งไว้ให้สัมผัสอากาศก็จะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมครามหรือน้ำเงิน
จากคุณสมบัติของทองแดงและตะกั่วที่กล่าวมาแล้ว ทำให้สามารถนำมาอธิบายสีของพระเนื้อเมฆพัดได้อย่างมีเหตุผลและชัดเจนมากขึ้นว่า”สีเทาอมครามหรือเทาอมน้้ำเงิน” ของพระเนื้อเมฆพัดนั้นเกิดจากสีของตะกั่วที่อยู่ที่ผิวขององค์พระซึ่งมีปริมาณมากกว่าทองแดงเนื่องจากตะกั่วมีน้ำหนักมากว่าทองแดงเวลาเทลงพิมพ์จึงเคลื่อนลงมาอยู่ด้านล่างหรือที่ผิวได้เร็วกว่าทองแดง ทำให้มองเห็นสีเทาอมครามหรืออมน้ำเงิน เพราะถ้ามีแต่ทองแดงหรือโลหะอื่นที่ไม่ใช่ตะกั่วจะไม่สามารถเห็นสีแววอมครามได้ ” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ใดให้คำตอบเรื่องสีเทาอมครามหรืออมน้ำเงินนี้ได้อย่างถูกต้องชัดเจนได้เลย “
สรุปแนวทางการศึกษาพระเนื้อเมฆพัด
– การสังเกตพิมพ์ต้องงดงาม ละเอียด ชัดเจนตามคุณสมบัติที่ออกแบบโดยผู้ที่เป็นช่างศิลป์
– อายุความเก่าของผิวองค์พระที่เป็นโลหะผสมที่นำมาสร้างต้องสมกับอายุการสร้างกว่า100ปีและมีสีผิวเทาอมครามถูกต้อง
– มวลสารที่นำมาสร้างต้องถูกต้องทั้งชนิด ปริมาณและสัดส่วนตามสูตรโบราณที่สืบทอดกันมาโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาช่วยพิสูจน์
จะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีแค่3องค์ประกอบหลักเท่านั้นที่ใช้เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นของแท้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมดส่วนมากใช้ความเชื่อถือในตัวบุคคลมากกว่าหลักการ และด้วยเหตุผลที่เคยกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า สมัยนี้ของแท้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพระของใครใช้ความเห็นส่วนบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเป็นหลักไม่มีใครหักล้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าไม่เคยมีใครที่รู้จริงและมีพระแท้ของจริงมาเปิดเผยและมีการนำหลักวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบให้เห็นได้อย่างชัดเจนแบบที่ข้าพเจ้าได้ทำมาในรอบกว่า100ปี เพราะถ้าใช้แค่3องค์ประกอบหลักที่กล่าวมาเบื้องต้นกลุ่มคนดังกล่าวก็จะคัดค้านหรือเถียงได้เพราะทุกคนก็รู้และศึกษามาพอๆกันใครมีชื่อเสียงหรือพวกมากกว่าก็ย่อมได้เปรียบ ก็คงต้องให้ผู้ศึกษาพระเครื่องทั้งหลายใช้สติปัญญาและวิจารณญานของท่านว่าท่านจะเชื่อแบบใด ข้าพเจ้าทำได้แค่เพียงเป็นผู้ที่ให้ข้อมูล คำอธิบายและเหตุผลพร้อมทั้งการพิสูจน์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาประกอบให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่สามารถจะหามาได้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ยังไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนเท่านั้น สุดท้ายผู้ที่มีปัญญาที่ได้ศึกษาข้อมูลรอบด้านทั้งหมดแล้วท่านเองจะเป็นผู้ตัดสินใจ
การศึกษาพระเครื่องเนื้อเมฆสิทธิ์
พระเนื้อเมฆสิทธิ์
คำว่า”เมฆสิทธิ์” ไม่พบว่ามีคำแปลในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แต่ตามความหมายที่เข้าใจกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจะหมายถึง โลหะผสมชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุของโลหะแบบหนึ่ง โลหะที่ได้จะมีลักษณแข็งแกร่งมีหลายสีเช่น สีเทาดำ เขียวอมทอง เขียวอมม่วงคล้ายสีปีกแมลงทับ
จากข้อมูลต่างๆที่ข้าพเจ้าได้ทำการค้นคว้ายังไม่พบว่ามีหลักฐานในการใช้โลหะหลักชนิดใดในการสร้างที่แน่นอนของพระเนื้อเมฆสิทธิ์และทำไมจึงมีสีผสมผสานกันหลากหลายสีให้พบเห็นและสีที่เป็นเอกลักษณ์เหล่านั้นเกิดจากโลหะชนิดใด บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามวลสารหลักสร้างจากทองแดงและปรอท ซึ่งตามหลักการแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะตามหลักธรรมชาติและคุณสมบัติของปรอทนั้นจะอยู่ในสถานะที่เป็นของเหลวที่อุณภูมิห้องแต่เมื่อนำมาหลอมรวมกับโลหะอื่นที่ความร้อนสูงก็น่าจะระเหยไปจนหมดจะไม่หลงเหลืออยู่ในวัสดุนั้นอีก ดังนั้นในความเห็นของข้าพเจ้าปรอทจึงเป็นเพียงโลหะที่นำมาใช้ผสมเฉพาะช่วงต้นของการสร้างพระเนื้อเมฆสิทธิ์เพื่อช่วยให้โลหะต่างๆที่เป็นมวลสารหลักรวมตัวเข้ากันได้ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นมวลสารหลักอย่างที่เคยเข้าใจกันมา ข้าพเจ้าได้สะสมพระเนื้อเมฆสิทธิ์ของหลวงพ่อทับ วัดอนงคารามไว้จำนวน5องค์หลากพิมพ์และสีมาเกือบ10ปีได้แก่พิมพ์ปางซ่อนหา1องค์ ลูกอมหรือลูกสะกด1องค์ พระปิดทวารทั้ง9หลังเรียบ2องค์ และพระปิดทวารทั้ง9หลังยันต์1องค์ ตามภาพ(รูปที่2) ในตอนแรกนั้นได้เพียงแค่การศึกษาลักษณะทางกายกาพคือ1.รายละเอียดของพิมพ์ 2.สีและมวลสารที่เป็นโลหะส่วนผิวภายนอก3.ความเก่าของโลหะและคราบสนิมของโลหะ ซึ่งเป็นการศึกษาจนครบทั้ง3องค์ประกอบหลักเบื้องต้นในการศึกษาพระเครื่องทุกชนิดตามที่ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้แล้ว ซึ่งถ้าเราศึกษาจนครบถ้วนแล้วก็สามารถนำไปใช้แยกแยะออกจากของปลอมได้อย่างแน่นอน เพราะของปลอมที่พบเห็นตามสนามหรือสื่อออนไลน์ต่างๆนั้นจะไม่มีองค์ประกอบครบทั้ง3อย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ที่ผิดเพี้ยน ลักษณะของสีหรือชนิดโลหะที่นำมาสร้างที่ไม่ใช่โลหะหลักของจริง และความเก่าที่เหมาะสมกับอายุของโลหะที่ไม่สามารถทำได้ แต่ข้าพเจ้ายังคงมีความสงสัยอยู่ตลอดว่าสีต่างๆที่เห็นในพระเนื้อเมฆสิทธิ์ที่แตกต่างกันในแต่ละองค์นั้นเกิดจากอะไรทำไมจึงมีเอกลักษณ์เช่นนี้ รู้แต่เพียงว่าเกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุแต่ยังไม่มีใครค้นคว้าหาคำตอบมาอธิบายให้เห็นชัดเเจ้งได้เลยว่าเป็นธาตุหรือโลหะอะไรบ้าง?
รูปที่ 1. ภาพการตรวจสอบชนิดโลหะของพระเนื้อเมฆสิทธิ์โดยเครื่อง XRF Spectrometer

รูปที่ 2. ภาพตัวอย่างพระเนื้อเมฆสิทธิ์หลวงพ่อทับ วัดอนงคาราม จำนวน5องค์
แต่เมื่อไม่นานมานี้ขณะที่ข้าพเจ้าได้นำพระเหรียญทองคำไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ของทองคำ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถตรวจสอบหาชนิดของโลหะได้แทบทุกชนิดในวัตถุตัวอย่าง ข้าพเจ้าจึงได้นำพระเนื้อเมฆสิทธิ์ที่เก็บสะสมไว้ไปตรวจสอบเพื่อหาชนิดของโลหะเพื่อต้องการทราบว่าแท้ที่จริงแล้วพระเนื้อเมฆสิทธิ์นั้นมีส่วนผสมของโลหะใดบ้างจึงทำให้มีลักษณะของสีที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งในวันที่ 21มีนาคม2562 เป็นวันที่ข้าพเจ้าได้นำพระเนื้อเมฆสิทธิ์ทั้ง5องค์ไปทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบชนิดของโลหะที่ชื่อว่า XRF Spectrometer ตามภาพด้านบน(รูปที่1)และผลการตรวจสอบชนิดโลหะของทุกองค์แม้ว่าจะมีสภาพสีภายนอกที่ดูแตกต่างกันชัดเจนเสมือนว่าทำมาจากโลหะต่างชนิดกัน แต่ผลการตรวจสอบที่ออกมากลับพบว่าพระทุกองค์มีส่วนประกอบของชนิดโลหะหลักที่เหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีปริมาณของโลหะที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากด้วย จึงเป็นเครื่องพิสูจน์และบ่งชี้ให้เห็นว่าการสร้างพระเนื้อเมฆสิทธิ์นั้นมีสูตรการคำนวณในการสร้างที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งผลการตรวจสอบชนิดและปริมาณโลหะที่ได้ออกมาตามรูปภาพด้านล่าง (รูปที่3)

รูปที่ 3. ผลรายงานชนิดและปริมาณโลหะในพระเนื้อเมฆสิทธิ์จากเครื่อง XRF Spectrometer
จากใบรายงานผลการตรวจสอบชนิดและปริมาณโลหะของพระเนื้อเมฆสิทธิ์ทั้งหมดพบว่าชนิดของโลหะที่เป็นมวลสารหลักของเนื้อเมฆสิทธิ์คือ “ทองแดง(Cu)” และ “พลวง(Sb)” ซึ่งรวมกันแล้วมีปริมาณ99%ของมวลสารทั้งหมดและสัดส่วนของทองแดงจะเป็น2เท่าของปริมาณพลวงในทุกๆองค์ ส่วนชนิดของโลหะชนิดอื่นๆที่พบคือ ซิลิกา(Si)กำมะถัน(S)เทลลูเรียม(Te)ตะกั่ว(Pb)และปรอท(Hg) ซึ่งรวมกันแล้วมีเพียง1%ของปริมาณมวลสารทั้งหมด
จากข้อมูลที่ได้นี้สรุปได้ว่าพระเนื้อเมฆสิทธิ์ทุกองค์นั้นสร้างจากโลหะหลัก2ชนิดคือ”ทองแดง” และ”พลวง” ในสัดส่วน2ต่อ1ตามลำดับ ส่วนที่มีโลหะชนิดอื่นๆเช่นกำมะถัน ปรอท ซิลิกา ผสมอยู่ด้วยนั้นคาดว่าไม่ได้เป็นมวลสารหลักแต่เป็นโลหะที่ซัดหรือผสมเข้ามาในขั้นตอนการหลอมของมวลสารตามภูมิปัญญาโบราณที่เรียกว่าการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้โลหะหลักผสมเข้ากันได้และง่ายต่อการสร้างให้ได้รูปตามแบบแม่พิมพ์หรืออาจจะเป็นส่วนประกอบย่อยของมวลสารหลักที่ไม่บริสุทธิ์ขณะที่นำมาสร้างพระนั่นเอง
จากข้อมูลของชนิดโลหะที่ได้จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือXRF Spectometeนี้ จึงเป็นที่มาของคำตอบต่อคำถามที่หลายคนสงสัยกันมานานนับ100ปีว่าสีต่างๆของเนื้อเมฆสิทธิ์เช่น เทาอมดำ เขียว ฟ้า เหลือง หรือที่เรียกวว่าสีปีกแมลงทับนั้นเกิดจากอะไรที่ทำให้มีเอกลักษณ์เป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือเป็นสีที่ผิวของโลหะที่เป็นมวลสารหลักคือ” ทองแดง”และ” พลวง”ที่ทำปฏิกิริยากับอากาศหรือ อ็อกซิเจนนั่นเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้นเราจึงควรเข้าใจธรรมชาติและคุณสมบัติทางกายภาพของโลหะหลักทั้ง 2ชนิดของเนื้อเมฆสิทธิ์เสียก่อนดังนี้
- ทองแดง เป็นหนึ่งในมวลสารหลักซึ่งมีปริมาณกว่า60% เป็นโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นสีแดงอมน้ำตาล ธรรมชาติของทองแดงถ้าถูกสัมผัสกับอากาศเป็นเวลานานๆจะเกิดการเปลี่ยนเป็นสีหมองคล้ำกลายเป็นสีเทาหรือเทาอมดำที่เรียกว่ากลับดำนั่นเอง ซึ่งจะพบเห็นในพระเนื้อเมฆสิทธิ์บางองค์ที่มีสีเทาอมดำตามภาพด้านบน(รูปที่2)
- พลวง เป็นหนึ่งในมวลสารหลักกว่า30%เป็นโลหะที่พบทั้งที่เรียกว่าพลวงเงินและพลวงทอง มีคุณสมบัติที่มีสีต่างๆให้พบเห็นได้หลายสีได้แก่สีเทาคล้ายตะกั่วมีความวาวบริเวณที่เป็นผิวบริสุทธิ์ (พลวงเงิน)บางครั้งพบว่ามีสีเหลืองอ่อน น้ำตาลอ่อนหรือขาวคล้ำ(พลวงทอง) พลวงที่เป็นโลหะเสถียรจะมี”สีฟ้า” ส่วนที่ไม่เสถียรจะมีสีเหลืองหรือดำ ลักษณะสีต่างๆที่ผสมผสานของสีเหลือง ดำและสีฟ้านี้เองทำให้เกิดเป็น”สีเขียวเหลือบ” ที่เราเรียกว่า”สีปีกแมลงทับ”นั่นเอง ซึ่งใพบได้ในพระเนื้อเมฆสิทธิ์บางองค์ซึ่งเป็นสีที่นิยมกันมากที่สุดในหมู่นักสะสม และมีตัวอย่างพระสีปีกแมลงทับให้ชมตามภาพด้านบน(รูปที่2)
- ซิลิกา พบในรูปของทรายและดินเหนียวเป็นมวลสารโลหะที่ผสมอยู่ไม่ถึง1%มีหน้าที่ทำให้ทนความร้อนได้ดีและเพิ่มความเงาให้เนื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ได้เห็นความมันวาวที่ผิวพระเนื้อเมฆสิทธิ์
- เทลลูเรียม เป็นธาตุกึ่งโลหะสีขาวเงินคล้ายดีบุกมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกำมะถันเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยหลอมโลหะผสมซึ่งสีขาวเงินที่พบในกพระเครื่องเนื้อเมฆสิทธิ์นอกจากสีของพลวงแล้วส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเนื้อของเทลลูเรียมได้อีกด้วย
- ฟอสฟอรัส คำนี้มาจากภาษากรีกแปลว่า”มีแสง”หรือ”เกิดแสง”เพราะว่าฟอสฟอรัสจะเรืองแสงอ่อนๆเมื่อมีอากาศหรืออ็อกซิเจน(ค้นพบโดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวเยอรมัน)ดังนั้นการเหลือบของสีพระเนื้อเมฆสิทธิ์ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุของฟอสฟอรัสที่ผิวเมื่อสัมผัสกับอากาศ โดยเฉพาะเมื่อฟอสฟอรัสเมื่อผสมกับซิลิกาจะยิ่งทำให้เกิดความมันหรือเหลือบเป็นเงามากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าในใบรายงานผลตรวจชนิดโลหะของพระเนื้อเมฆสิทธิ์ทุกองค์ไม่มีส่วนผสมของปรอทแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามข้อสัณนิษฐานของข้าพเจ้าที่ว่า ปรอทนั้นไม่ใช่มวลสารหลักในการสร้างพระแต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ทองแดงและพลวงผสมผสานรวมตัวเข้ากันได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากหลักการเดียวกันนี้ข้าพเจ้ายังได้รับทราบข้อมูลจากการสอบถามจากทันตแพทย์ว่า ในสาร”อมัลกัม” ที่ใช้เป็นสารอุดฟันนั้นจะใช้ปรอทเป็นตัวช่วยในการผสมของโลหะดีบุก ทองแดงและสังกะสีเพื่อให้ส่วนผสมทั้ง3รวมตัวเข้ากันได้ง่ายขึ้นหลังจากนั้นจะซับของเหลวที่เป็นปรอทออกก่อนที่จำนำไปใช้อุดฟันทำให้ปรอทที่เป็นของเหลวถูกซับและระเหยออกไปจนหมดก่อนนำมาใช้
สรุปแนวทางการศึกษาพระเนื้อเมฆสิทธิ์
-การสังเกตรายละเอียดของพิมพ์ที่ต้องงดงาม อ่อนช้อยและชัดเจนซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ออกแบบโดยช่างศิลป์
-ความเก่าของผิวโลหะที่สมกับอายุการสร้างมานับ100ปี
-มวลสารของเนื้อเมฆสิทธิ์ที่ถูกต้องซึ่งจะทำให้มีสีที่เป็นเอกลักษณ์ทำเลียนแบบไม่ได้ นอกจากการสังเกต3องค์ประกอบหลักเบื้องต้นแล้วถ้ายังมีข้อขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันนี้ที่มี”จุดตาย”ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่จะแยกของปลอมออกไปได้คือการตรวจหาชนิดและปริมาณโลหะหลักด้วยเครื่ิองมือ XRF Spectrometerนั่นเอง
จากคุณสมบัติของโลหะที่นำมาใช้สร้างพระเนื้อเมฆสิทธิ์นี้เองจึงเป็นที่มาของคำตอบที่ยังไม่เคยมีใครสามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าสีที่เป็นเอกลักษณ์ของพระนั้นเกิดจากสิ่งใดและเป็นปุจฉาที่ล่วงเวลามานับ100ปี