Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทางเพจขอนำข้อมูลและวิธีการในการพิจารณาพระพุทธรูปเนื้อโลหะต่างๆหรือที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์(โลหะผสม)​โบราณ เพื่อให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาและพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางเก็บสะสมในอนาคต
การศึกษาพระพุทธรูปเนื้อโลหะนั้นหลักการในการพิจารณาก็เหมือนกับการพิจารณาพระเครื่องทุกชนิดที่เคยได้กล่าวมาแล้วทุกครั้ง (ต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กน้อย)​ได้แก่
1.อายุความเก่าของพระพุทธรูปต้องเก่าจริงสมกับยุคสมัยที่สร้าง
2.เนื้อโลหะที่ใช้สร้างและดินที่อยู่ใต้ฐานต้องถูกต้อง
3.พุทธศิลป์และวิธีกาสร้าง(หล่อโบราณ)​ถูกต้องตามยุคและงดงามนิ่มตา
อายุความเก่าของพระพุทธรูปเนื้อโลหะนั้นเราไม่สามารถใช้เครื่องมือใดๆมาตรวจอายุของเนื้อโลหะได้ในปัจจุบันนี้ แต่เราสามารถพิจารณาโดยนำประวัติทางพุทธศิลป์จากตำราที่ได้ลงบันทึกไว้และคุณสมบัติของโลหะมาใช้ได้ในหลายวิธีเช่น
-พิจารณาจากพุทธศิลป์นั้นถ้าพบว่าพุทธศิลป์ขององค์พระพุทธรูปที่เราพิจารณาอยู่นั้นถูกต้องแล้วเราก็สามารถที่จะบอกอายุคร่าวๆของพระพุทธรูปองค์นั้นได้เช่น
-​สมัยทวารวดี(พ.ศ.1100-1300)
-​สมัยศรีวิชัย(พ.ศ.1300-1800)
-​สมัยลพบุรี(พ.ศ.1500-1700)
-​สมัยเชียงแสน(พ.ศ.1900-2000)
-สมัยอู่ทอง(พ.ศ.1700-1900)
-​สมัยสุโขทัย(พ.ศ.1800-2000)
-​สมัยอยุธยา(ปลายพ.ศ.1900-ต้น2400)
-​รัตนโกสินทร์(ต้นพ.ศ.2400-ปัจจุบัน)
ดังนั้นถ้าเราทราบศิลปะแล้วจะสามารถเทียบเคียงหาปีพ.ศ.ที่สร้างและหาอายุพระพุทธรูปองค์นั้นๆได้(อายุพระ=พ.ศ.ปัจจุบัน – พ.ศ.ที่สร้าง)​
-พิจารณาจากความเก่าของโลหะที่สร้างและดินใต้ฐาน -ชนิด, ลักษณะและคุณสมบัติของโลหะนั้นคงที่แน่นอนและเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือเช่นทองคำ, เงิน, ทองแดงฯลฯ และโลหะที่เก่าทุกชนิดจะต้องมีสนิมโลหะเฉพาะตัวคือทั้งสีของสนิมและธรรมชาติการเกิดจากเนื้อในสะสมหนาตัวขึ้นที่ละน้อยซึ่งทำปลอมไม่ได้
-ดินใต้ฐานคือจุดสำคัญที่ช่วยบ่งชี้อายุของพระพุทธรูปได้อีกทางหนึ่ง คือลักษณะของเนื้อดินแต่ละยุคและสถานที่จะไม่เหมือนกัน, ความแข็งและแกร่งต้องมีให้เห็น , คราบกรุหรือความเก่าของดินใต้ฐานต้องมีให้เห็นเป็นธรรมชาติซึ่งของปลอมทำไม่ได้ทำให้บางครั้งของปลอมก็จะนำดินออกไปจากใต้ฐาน
-​พุทธศิลป์และวิธีการสร้างคืออีกจุดในการพิจารณาของแท้ การสร้างหมายถึงการหล่อแบบโราณที่เรียกว่าเบ้าทุบจะต้องพิจารณาว่าเป็นการหล่อจริงจากแม่พิมพ์ที่มีการสร้างจากช่างศิลป์ ก่อนที่จะนำมาหล่อ รายละเอียดพิมพ์ทุกจุดตั้งแต่พระเกศลงมาทถึงฐานจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยจะต้องมีความนิ่มตาทุกจุด(นิ่มตาหมายถึงงดงาม, ละเอียด, อ่อนช้อย, มีมิติ, ถูกกายวิภาคและสมส่วน ซึ่งภาพหรือลักษณะโดยรวมมองแล้วไม่ขัดตา)​ ต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระพุทธรูปโบราณนั้นจะถูกสร้างโดยพุทธศิลปินที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะทางด้านศิลปะ ส่วนหนึ่งเป็นพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติชอบ หรือเป็นฆราวาสที่ผ่านการเรียนการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ดังนั้นการสร้างจะสร้างด้วยจิตวิญญานและด้วยความเคารพสูงสุดซึ่งผลงานที่ออกมาจะต้องสมบูรณ์และงดงามที่สุด จุดในการพิจารณาพิมพ์นี้ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์อย่างแท้จริงของผู้ที่ศึกษาด้วยคือจะต้องเคยศึกษาหรือค้นคว้าด้านศิลปะมาพอสมควรจึงจะพิจารณาได้ชัดเจนขึ้นและมองเห็นจุดบกพร่องได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน จะเห็นได้จากเวลาดูภาพหรือดูจากของจริงคนที่ขาดประสบการณ์จะไม่สามารถแยกรานละเอียดศิลปะของแท้กับของปลอมได้ จะมองว่าเหมือนกันหมดจุดนี้คือข้อแตกต่าง ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าอย่าด่วนสรุปหรือลงความเห็นโดยที่ไม่ได้พิจารณาดินใต้ฐานโดยเด็ดขาดโดยเฉพาะในผู้ที่เริ่มศึกษา จะมีโอกาสพลาดได้ง่ายมากครับ
ในชุดนี้ทางเพจได้นำเฉพาะพระพุทธรูปสมัยอู่ทองทั้งหมด 5องค์มาให้ท่านสมาชิกได้ศึกษา
1.เนื้อทองคำแท้ขนาดกว้าง 1นิ้วสูง 2นิ้ว
2.เนื้อสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 12นิ้ว
3.เนื้อสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 16นิ้ว
4.เนื้อสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 30นิ้ว(ขนาดใหญ่กว่าตัวคน)พิมพ์เกศฝาชีคว่ำหรือกรวยคว่ำ
5.เนื้อสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 30นิ้ว(ขนาดใหญ่กว่าตัวคน)พิมพ์เกศเปลวเพลิง