Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

ขอนำพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคปลายของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ,พิมพ์เกศบัวตูม,พิมพ์อกครุฑเศียรบาตรของวัดระฆังและวังหน้าที่มีหลากหลายขนาด, แบบและเนื้อต่างๆ, พิมพ์ฐานแซมและพิมพ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ฐานแซม, พิมพ์ฐานคู่ ซึ่งเป็นกรุเก่าทั้งหมดมาให้ท่า​นสมาชิกได้ชมและเปรียบเทียบ
หลักการพิจารณาคือ
1.ลักษณะรายละเอียดพิมพ์โดยรวมที่นิ่มตาตามพุทธศิลป์ของแต่ละพิมพ์ รวมถึงขนาด, กรอบพิมพ์ทั้ง4ด้านและรูปแบบการสร้าง
2.เนื้อของพระพิมพ์,มวลสารหลักและมวลสารรองซึ่งจะต่างกันตามยุคสมัยและประวัติการสร้างจะนำมาเป็นมาตรฐานว่ามีเนื้อและพิมพ์ชนิดเดียวไม่ได้
ธรรมขาติของเนื้อพระของวัดระฆังจะหนึกนุ่ม​ส่วนใหญ่จะมีมวลสารมาก ส่วนของวัดบางขุนพรหมนั้นเนื้อจะหนึกแกร่งและส่วนใหญ่มีมวลสารน้อยยกเว้นในพระฝากกรุ ส่วนเรื่องของพิมพ์เช่นฐานแซมที่นำมาเทียบให้ชม ซึ่งตามตำราของท่านตรียัมปวายพิมพ์ฐานแซมยังมีแยกย่อยออกไปอีกถึง 7แบบย่อย ส่วนมวลสารรองนั้นมีหลายชนิดท่านสามารถหาอ่านได้ทั่วไปแต่ละองค์จะมีมากน้อยต่างกันไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือผงสมเด็จที่เป็นสูตรที่ท่านสร้างไว้(หาอ่านได้ทั่วไป)​
ส่วนพระกรุวัดบางขุนพรหมนั้นจะมีเรื่องของคราบกรุที่ต้องพิจารณาด้วยและคราบกรุนั้นไม่ได้มีแบบเดียวตายตัว อาจจะมีมากน้อยต่างกันตามตำแหน่งที่ถูกบรรจุไว้ในมหาเจดีย์ซึ่งแบ่งคร่าวๆได้เป็น4ชั้นคราบกรุก็จะต่างกันออกไป แต่ต้องเป็นธรรมชาติสร้างซึ่งจะต่างกับของปลอมชัดเจนถ้าเราศึกษาให้รอบคอบ(จะนำมาให้ชมในครั้งต่อๆไปครับ)​
3.อายุความเก่าขององค์พระซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก
-ผิวภายนอกที่แห้งหดตัวตามอายุที่มากกว่า 150ปี ผิวต้องไม่บวมผิวตึงผิดธรรมชาติ, ถ้่าเป็นยุคต้นผิวจะต้องมีการแตกรานเนื่องจากไม่มีน้ำมันตังอิ๊วซึ่งตัวประสานเนื้อพระเหมือนยุคปลาย
-ถ้าผิวถูกหุ้มด้วยวัสดุที่ป้องกันเนื้อพระไว้เช่นรัก, ชาด, ปิดทอง, บุทองหรือยุคต้นจะปิดด้วยกระดาษสา (จะนำมาให้ชมในครั้งต่อๆไปครับ)​ การดูวัสดุที่ปิดผิวไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างพระจะช่วยบอกได้ว่าเก่าถึงอายุหรือไม่จากการพิจารณาความเก่าและการแตกรานของวัสดุนั้น
-พิจารณารูพรุนปลายเข็ม, บ่อน้ำตา, หลุมโลกพระจันทร์, การปริแยกของขอบข้างและด้านหลังซึ่งเกิดจากการเวลา ต้องมีให้พบเห็นมากน้อยในแต่ละองค์ที่เป็นเอกลักษณ์ยากที่จะเลียนแบบได้
รายละเอียดและการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังและวัดบางขุนพรหมนั้นมีมากมากมายหลายอย่างเนื่องจากมีการสร้างหลายยุคหลายสมัยหลายวาระทั้งยุคต้น(สมัยร.2 – ร.3)​ยุคกลาง(สมัยร.3 – ร.4)และยุคปลาย(ปลายสมัยร.4 – ต้นร.5) แต่ละยุคก็จะมีหลายวาระทั้งส่วนตัวที่องค์สมเด็จโตท่านสร้างเอง, สำหรับวาระสำคัญต่างๆ, สำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และที่สูงสุดคือสำหรับพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการศึกษาจากตำราเดียวเช่นของหนังสือของท่านตรียัมปวายก็จะเน้นเฉพาะยุคปลายของหลวงวิจารณ์และวัดบางขุนพรหมเท่านั้น ดังนั้นการศึกษารอบด้านหลากหลายตำราก็จะได้เปรียบและไม่พลาดพระสมเด็จแท้ๆอีกจำนวนมาก ที่ไม่มีในกลุ่มเชิงพาณิชย์หรือวงการเล่นหากันอยู่ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง