Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

ขอนำ”เหรียญหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา” พ.ศ.2485 จังหวัด ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดพระเหรียญคงกระพันยอดนิยมมากที่สุดในยุคสงครามอินโดจีนคือ “จาด จง คง อี๋” ซึ่งทางเพจได้เคยนำเสนอ เหรียญ ล.พ.อี๋ ไปแล้วก่อนหน้านี้
สำหรับเหรียญล.พ.จาด วัดบางกระเบานั้นมีการนำข้อมูลมาลงให้ชมในสื่อต่างๆไว้หลายรุ่น เช่นด้านหลังมีคำว่า จ.เจริญลาภ หรือรุ่น2485 ที่มีพิมพ์ด้านหลังเป็นบัวคว่ำ,บัวหงาย ” แต่จากการศึกษาหนังสือพระเครื่องในอดีตและสอบถามผู้รู้ในอดีต เหรียญแท้ที่นิยมและจัดอยู่ในหมวด”จาด จง คง อี๋” ที่นิยมกันคือเหรียญที่สร้างในปี พ.ศ.2485 ที่ทางเพจนำมาให้ชมในวันนี้เท่านั้น” ขอให้ท่านที่ศึกษาโปรดใช้ความรอบคอบในการพิจารณาศึกษาและสะสม
เหรียญที่นำมาให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาในวันนี้มี 2เหรียญคือเนื้อทองแดงรมดำและเนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง ซึ่งทั้ง 2เหรียญนั้นผมได้มาต่างเวลากัน แต่รายละเอียด,จุดตำหนิ,ความเก่าและรูปแบบการสร้างเหรียญนั้นมีเหมือนกันทุกประการ ข้อมูลต่างๆและประวัติการสร้างเหรียญมีดังนี้
1.เหรียญสร้างในปีพ.ศ.2485
2.การสร้างแบบเลื่อยข้างปั๊มกระบอก หูเหรียญเชื่อมภายหลัง
3.ศิลปะเป็นแบบ(ค่อนข้าง)นูนต่ำ
4.เนื้อโลหะเป็นแบบ
-ทองแดงกะหลั่ยทอง
-ทองแดงรมดำ
หลักการศึกษาและพิจารณา มีดังนี้
1.ความเก่าของเหรียญคือ2564-2485=79 ปี
ความเก่าของโลหะต้องสมอายุโดยพิจารณาจาก
-สนิมและความเก่าที่ผิวต้องมีให้เห็นและเป็นธรรมชาติ ส่วนเหรียญที่รมดำและกะหลั่ยทองคราบรมดำและกะหลั่ยทองต้องหม่นดูเก่า,แห้งและไม่ดูสดใหม่วาวๆเวลาถ่ายภาพ และต้องมีผิวเปิดให้เห็นเนื้อทองแดงดูแบ้วเก่าและเป็นธรรมชาติ
-เหรียญเก่าต้องหดตัวผิวเรียบตึงสมอายุไม่บวม
2.รายละเอียดพิมพ์และการสร้างเหรียญถูกต้อง -พิมพ์ต้องเป็นแบบนูนต่ำ,รายละเอียดต้องมีมิติครบถ้วน,สวยงาม,อ่อนช้อยที่โดยรวมเรียกว่า”นิ่มตา”นั่นเอง โดยเฉพาะใบหน้าหลวงพ่อ,ตัวอักษรและกลีบบัวด้านหลัง ซึ่งในของปลอมจะต่างกันชัดเจน
-การสร้างแบบเลื่อยข้างปั๊มกระบอก โดยพิจารณาผิวเหรียญปั๊มต้องเรียบตึง รายละเอียดชัดเจนไม่เบลอไม่บวม ขอบข้างเห็นรอยเลื่อยบางๆ,เห็นรอยพับของขอบเกินจากการเลื่อยเมื่อถูกขอบกระบอกอัดจากด้านข้าง และขอบข้างต้องยุบหดตัวเป็นธรรมชาติ โดยเนื้อตรงกลางยุบต่ำกว่าขอบนอก
-การเชื่อมหูเหรียญด้วยน้ำประสานทองต้องเห็นสีเหลืองของทองผสมอยู่ในตัวเชื่อมเสมอ ของปลอมจะเป็นสีเงินของตะกั่ว
3.โลหะและวัสดุที่ใช้สร้างเหรียญต้องถูกต้องโดยพิจารณาลักษณะของทองแดงที่ใช้สร้าง เป็นทองแดงยุคเก่า ส่วนรมดำและกะหลั่ยทองก็ต้องเก่าสมอายุ การทำรมดำต้องแห้งและบางของใหม่จะหนาและฉ่ำอยู่ ส่วนกะหลั่ยทองเก่าต้องสีเหลืองสุกเหมือนทองโบราณและกะหลั่ยต้องบางและแห้งเช่นเดียวกัน ในส่วนบริเวณของผิวเปิดเนื้อทองแดงในเหรียญรมดำนั้นสีของทองแดงจะเข้มสีน้ำตาลอมดำกว่าเหรียญที่ไม่ได้รมดำ ส่วนเหรียญกะหลั่ยทองเนื้อทองแดงจะเป็นสีน้าตาลอ่อนกว่าเพราะสีเหลืองของกะหลั่ยจะซึมเข้าเนื้อทองแดงบางส่วนเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี
การพิจารณาประกอบกันของ 3องค์ประกอบหลักนี้ต้องมีครบถ้วนจึงจะสรุปว่าเป็นเหรียญแท้ได้แน่นอน ซึ่งหลักการพิจารณาต่างๆนี้ใช้หลักการและคุณสมบัติของโลหะ,สารเคมีทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในเรื่องการพิจารณาอายุความเก่าและวัสดุที่ใช้ในการสร้าง รวมทั้งนำหลักการทางศิลปะมาประกอบเพื่อช่วยในการพิจารณาเรื่องพิมพ์เริ่มจากการออกแบบพิมพ์,ทำแบบพิมพ์จากช่างที่มีความรู้ทางศิลปะผลงานที่ออกมาจึงละเอียดงดงามก่อนที่จะนำมำปั๊ม เพราะทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลอธิบายได้เสมอใครจะมาบิดเบือนและเถียงไม่ได้ ไม่ใช่แค่การดูตำหนิแบบเก่าหรือแค่คนหรือกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงการันตีเท่านั้น