Select Page

ข้อมูลเพิ่มเติม

ขอนำ”เหรียญหลวงพ่อ จง วัดหน้าต่างนอก” จ.อยุธยา ซึ่งเป็น 1ใน 4 พระเหรียญคงกระพันชาตรี ยอดนิยมในสมัยสงครามอินโดจีนคือ หลวงพ่อ “จาด จง คง อี๋” ซึ่งที่ผ่านมาทางเพจได้เคยนำเหรียญหลวงพ่อ จาดและหลวงพ่อ อี๋ มาให้ท่านสมาชิกได้ศึกษาแล้ว
เหรียญหลวงพ่อ จง ที่นำมาให้ศึกษาในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 3รุ่นและนับว่าเป็นเหรียญที่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งความเก่าที่มีสภาพเดิมๆ, รายละเอียดพิมพ์ที่งดงามครบถ้วนและชนิดของโลหะที่เคยสร้างไว้ในอดีตครบทุกชนิดคือเนื้อทองคำแท้ (2เหรียญ) ,เนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง, เนื้อทองแดงรมดำ, เนื้อทองแดงปกติ, เนื้อเงินลงยาสีและเนื้อเงินลงถม ทั้งหมด 7เหรียญ ซึ่งท่านสมาชิกน่าจะไม่เคยได้พบเห็นจากที่ใดมาก่อนอย่างแน่นอนดังนี้
1.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2484 เป็นเหรียญรูปหยดน้ำเนื้อเงินลงยาสี จำนวน 1เหรียญ การสร้างเป็นเหรียญปั๊มมีหูในตัว ขอบข้างเลื่อยแล้วนำมาลงยาสี
-รายละเอียดต้องงดงาม, คมชัดทั้งรูปหลวงพ่อด้านหน้าและยันต์ด้านหลัง
-ความเก่าของเนื้อเงิน ต้องมีสนิมเก่าเป็นธรรมชาติสมอายุ 80ปี
-เนื้อเงินต้องเป็นเงินแท้ยุคโบราณ,การลงยาสีต้องละเอียดและยาสีต้องเก่าสมอายุเช่นกัน
2.เหรียญเนื้อเงินลงถมยุคแรก เป็นเหรียญรูปไข่ขนาดเล็กกว่าเหรียญทั่วไปมีหูในตัวจำนวน 1
เหรียญ
หลักการคร่าวๆในการสร้างเหรียญเงินลงถมคือ
1.เตรียมน้ำยาถมที่ประกอบด้วยตะกั่ว,ทองแดงและเงินมาหลอมรวมกันและซัดด้วยกำมะถันเหลือง จะได้นำยาถมเป็นสีดำ
2.เตรียมแผ่นเงินที่ต้องการรีดให้เป็นแผ่นบางๆตามต้องการแล้วเลื่อยให้ได้รูปแบบตามต้องการ
3.การทำรายละเอียดลงลวดลายตามที่ออกแบบไว้แล้วนำมาแกะสลักหรือทำร่องหรือแอ่งตามแบบข้างต้น
4.เทน้ำยาถมที่หลอมด้วยความร้อนสูงลงในร่องที่แกะไว้จนครบ
5.ตกแต่งขัดผิวเป็นขั้นตอนสุดท้าย
การพิจารณาเหรียญเงินลงถม
-ความเก่าของเนื้อเงินและเนื้อถมต้องเก่าสมอายุโดยดูสนิมดำของเนื้อเงิน, สีดำของถมที่แห้งด้านและเก่าสมอายุ
-ดูการสร้างถูกต้องการแกะร่องหรือแอ่งและความละเอียดของพิมพ์ที่นิ่มตาสวยงาม
3.”เหรียญพิมพ์นิยม” พ.ศ.2485 “พิมพ์หน้าใหญ่ ด้านหลังเป็นพ.ศ.โค้ง” ซึ่งเป็นเหรียญที่ทุกท่านคุ้นตาและนิยมเช่าบูชากันมากที่สุดอยู่ในขณะนี้และจัดอยู่ในชุด”จาด จง คง อี๋”นั่นเอง ซึ่งพิมพ์นิยม หน้าใหญ่หลังยันต์โค้งนี้ทางเพจได้นำมาให้ศึกษาทั้งหมด 5เหรียญคือ
– เนื้อทองคำแท้ 2เหรียญ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีใครนำเหรี​ยญทองคำแท้มาแสดงให้ชมและส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่ามีการสร้าง ซึ่งเป็นเหรียญปั๊มหูในตัวและเหรียญปั๊มหูเชื่อมอย่างละ 1เหรียญ ซึ่งเหรียญทั้ง 2นั้นแม้จะมีการสร้างหูเหรียญที่ต่างกันก็ตาม แต่ในเรื่องของความเก่า,พิมพ์และเนื้อทองคำทุกอย่างจะเหมือนกันทุกประการ
หลักการพิจารณาเหรียญพิมพ์นิยมพ.ศ.2485 “หน้าใญ่หลังเหรียญมีพ.ศ.โค้ง” นั้น ยังคงใช้หลักการเดิมคือ
1.พิจารณาพิมพ์และการสร้าง
-พิมพ์นั้นเป็นลักษณะค่อนข้างนูนต่ำซึ่งทางเพจได้นำภาพรายละเอียดมาให้ชมทุกมุมมองตามภาพด้านล่าง โดยมีเอกลักษณ์สำคัญบางจุดที่ควรพิจารณาคือ
1.ด้านหน้า
-ความคมชัดใบหน้า,จีวร,นิ้วมือ
-เสี้ยววงเดือนเหนือศรีษะมาทางซ้ายมือของหลวงพ่อ ท่านต้องจดจำลักษณะของเสี้ยววงเดือนนี้ให้แม่นยำ เพราะของปลอมจะทำได้ไม่เหมือน
-ที่พื้นเหรียญจะมีเส้นรัศมีวงกลมบางๆให้เห็นหลายจุด(มีภาพประกอบ)
2.ด้านหลัง
-ขอบข้างเหรียญจะมีส่วนโลหะปลิ้นให้เห็นบางจุดจากการเลื่อยดูเป็นธรรมชาติ
-ที่พื้นด้านหลังส่วนใหญ่จะไม่เรียบเหมือนเหรียญทั่วไป แต่จะเห็นรอยเป็นลายลางๆที่เกิด​จากตัวแม่พิมพ์ที่พื้นถูกกลึงไม่เรียบหลังจากทำแม่พิมพ์เสร็จแล้วทำให้เกิดร่องรอยที่พื้นตามที่ปรากฏหลังทำการปั๊ม จุดนี้มีประโยชน์มากเพราะของปลอมจะทำออกมาไม่เหมือน
-มีรอยรัศมีวงกลมลางๆที่พื้นหลายจุดเป็นธรรมชาติ
-​หลักการสร้างจะเป็นเหรียญปั๊ม มีขอบข้างเลื่อย การพิจารณารอยเลื่อยด้านข้างต้องถูกต้องเเละเป็นธรรมชาติ มีหูในตัวยกเว้นเหรียญทองคำบางเหรียญเท่านั้นที่เป็นหูเชื่อม
2.พิจารณาถวามเก่าของเหรียญที่มีอายุ 2564-2485=79ปี ซึ่งต้องมีสนิมและความเก่าที่สมอายุเสมอ สนิมทองคำจะเป็นสีน้ำตาลเข้มอมดำ, สนิมทองแดงจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม สนิมเก่าเป็นธรรมชาติ
3.วัสดุที่สร้างมีเฉพาะ
-เนื้อทองคำ
-เนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง
-เนื้อทองแดงรมดำ
-เนื้อทองแดงปกติ
การพิจารณาเนื้อทองคำต้องมี%ทองมากกว่า80% ด้วยเครื่องตรวจโลหะ สีของทองคำต้องเหลืองสุกกว่าทองคำสมัยนี้ชัดเจน, เนื้อทองแดงต้องเป็นทองแดงโบราณเก่าสีน้ำตาลเข้มพร้อมสีสนิมสมอายุ, กะหลั่ยทองต้องบางและเก่าสีกะหลั่ยต้องเหลืองสุก, เก่าสมอายุ, รมดำต้องบางเก่าและสีต้องดำด้านและหม่นลงตามอายุเหรียญ
ท่านสามารถศึกษาพระเครื่องหมวดต่างๆย้อนหลังได้ในเพจนี้อีกจำนวนมาก และที่เว็บไซท์ www.puttharugsa.com ครับ